- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 28 July 2015 08:34
- Hits: 4440
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 20-24 ก.ค.58 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 27-31 ก.ค.58
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 74.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 2.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 63.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สิ้นสุดสัปดาห์ที่ 17 ก.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 463.9 ล้านบาร์เรล
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ก.ค. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Position) ลงจากสัปดาห์ก่อน 36,127 สัญญา หรือ 21% มาอยู่ที่ 107,696 สัญญา ทั้งนี้ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา Net Long Position ของน้ำมันดิบ WTI ลดลงเกือบ 130,000 สัญญา
Baker Hughes รายงาน ปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ก.ค.58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 21 แท่น มาอยู่ที่ 659 แท่น นับเป็นการเพิ่มจำนวนแท่นขุดเจาะรายสัปดาห์สูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 57 และ EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯช่วง 9 สัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียปี 2558 และปี 2559 จากปีก่อนที่ 6.1% และ 6.2% ตามลำดับ (ลดลงจากการประเมินเดือน มี.ค.58 ที่ 0.2% และ 0.1% ตามลำดับ) เพราะเศรษฐกิจจีนชะลอตัวเกินคาด ทั้งนี้ ADB คาดว่าเศรษฐกิจของอาเซียน ปี 2558 และ 2559 จะเติบโต 4.6% และ 5.1% ตามลำดับลดลงจากการประมาณการณ์ครั้งก่อนเช่นกัน
· Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 800,000 บาร์เรลต่อวัน (จากระดับปัจจุบันที่ 500,000 บาร์เรลต่อวัน) หลังกองกำลังติดอาวุธที่ต่อสู้กันในประเทศเห็นพ้องให้ท่อขนส่ง 2 เส้นทางตะวันตกของประเทศกลับมาดำเนินการ
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Reuters รายงานโรงกลั่นใหม่ในลาตินอเมริกากำลังการกลั่นรวม 300,000 บาร์เรลต่อวัน จะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มกลั่นน้ำมันภายในปีนี้ อาทิ โรงกลั่น Esmeralda (100,000 บาร์เรลต่อวัน) ของเอกวาดอร์, โรงกลั่น Castagena ของโคลัมเบียที่เพิ่มกำลังการกลั่นจาก 80,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 165,000 บาร์เรลต่อวัน จะแล้วเสร็จในเดือน ต.ค. นี้ และ โรงกลั่น RNEST (230,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ Petrobras ประเทศบราซิล ที่เดินเครื่องแล้ว 115,000 บาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน พ.ย. 57 และส่วนที่ 2 ขนาด 115,000 บาร์เรลต่อวัน จะเดินเครื่องในครึ่งหลังของปี 58 กำลังการกลั่นในลาตินอเมริกาที่เพิ่มขึ้นจะทำให้การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสหรัฐฯ ลดลงและกดดันค่าการกลั่นในสหรัฐฯ ที่มีละตินอเมริกาเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ
· General Administration of Custom of China รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบีย เดือนมิ.ย.58 ที่ 1.29 ล้านบาร์เรลต่อวันเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 35.8% และนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านที่ 671,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 29.6%
· บริษัท Sinopec ของจีนผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันใหญ่ที่สุดของประเทศเดินเครื่องโรงกลั่นน้ำมันครึ่งแรกของปี 2558 ที่ 4.81 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 27 %) และมีแผนกลั่นน้ำมันในปี 2558 ที่ระดับ 4.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· Joint Organizations Data Initiative (JODI) รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบียเดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ 6.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อน 802,000 บาร์เรลต่อวัน เพราะใช้น้ำมันดิบเพื่อกลั่นในประเทศ 2.42 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 200,000 บาร์เรลต่อวัน และใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้าที่ 677,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 319,000 บาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ปรับลดลงจาก Caixin-Markit รายงาน PMI ภาคการผลิตของจีนเดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ 48.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อน 1.2 จุด ต่ำสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 58 และปริมาณการใช้ไฟฟ้า รวมทั้งยอดจำหน่ายรถยนต์ บ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจจีนไม่แข็งแกร่ง ประกอบกับอุปทานน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูงทั้งในสหรัฐฯ ที่ระดับ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯเพิ่มจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน และอิรักส่งออกที่ระดับ 3.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่อิหร่านเร่งเตรียมความพร้อมรองรับการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศเมื่อการคว่ำบาตรยุติลงโดยรัฐบาลจะเปิดโอกาสให้ต่างชาติลงทุนในทรัพย์สินของรัฐบาล อาทิในธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น อย่างไรก็ตามบริษัทน้ำมันข้ามชาติรายใหญ่อาทิ Exxon, Chevron, Shell, BP, Total มีแนวโน้มพิจารณาปรับลด CAPEX อีกในช่วงนี้ ตามปกติบริษัทปรับงบการลงทุนปีละครั้ง แต่ผลกำไรสุทธิไตรมาส 2/58 ที่ลดลงกว่า 40% อาจทำให้บริษัทปรับลดค่าใช้จ่ายในปี 2558 ลงอีกหลังจากที่ช่วงต้นปีได้ปรับลดลงแล้ว 10-15% จากปี 2557
ส่วนจีนเร่งยกระดับเศรษฐกิจของประเทศด้วยมาตรการส่งเสริมการนำเข้าและส่งออกด้วยการปรับลดอัตราภาษีสินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มการเปิดร้านค้าปลอดภาษีและเพิ่มความหลากหลายของสินค้าในสนามบิน ให้ติดตามการหารือของ IMF ในวันพุธนี้เพื่อพิจารณาการรวมสกุลเงินหยวนไว้ในตะกร้าสกุลเงิน SDR (Special Drawing Right ที่ปัจจุบันประกอบด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ,เยน, ยูโร และปอนด์) เพื่อยกระดับบทบาทของจีนในเศรษฐกิจโลก ด้านกรอบความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54.4-58.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 46.1-50.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ ดูไบ จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 51.6-55.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงจากหน่วยงานศุลกากรของจีนรายงานยอดส่งออกน้ำมันเบนซิน ในเดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ 4.2 ล้านบาร์เรล (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 18% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 เดือนแรกของปี 2558 ราว 20% กรมศุลกากรของจีนรายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เดือน มิ.ย. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.9 ล้านบาร์เรล และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ สิ้นสุดสัปดาห์วันที่ 22 ก.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.21 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 12.26 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานอุปทานน้ำมันเบนซินในตลาดเอเชียเริ่มตึงตัว เนื่องจากมีโรงกลั่นน้ำมันในเกาหลีใต้ และไต้หวันหยุดดำเนินการเพื่อซ่อมบำรุงตามแผน กระทรวงพลังงานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เผยแผนยกเลิกการอุดหนุนราคา (Subsidy) น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลภายในประเทศ ปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลก มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 58 อนึ่ง ในปี 2553 รัฐบาลพยายามยกเลิกการแทรกแซงราคาน้ำมันแต่ไม่เป็นผล ต่างจากครั้งนี้ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำ ขณะที่ Federal Highway Administration ของสหรัฐฯ รายงานชาวอเมริกันขับรถมากที่สุดในรอบ 8 ปี โดยในเดือน พ.ค. 58 ชาวอเมริกันขับรถ 2.75 แสนล้านไมล์ ส่งผลให้ค่าเฉลี่ย 5 เดือนแรกของปี 2558 มากกว่า 1.26 ล้านล้านไมล์ สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2551 สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 71.5-75.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงจากสำนักสถิติแห่งชาติของจีนรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซล ในเดือน มิ.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.3 % อยู่ที่ 114.5 ล้านบาร์เรล และ Reuters คาดการณ์ว่าจีนจะส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน ส.ค. 58 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยปริมาณ 6.7 ล้านบาร์เรล เนื่องจากจำต้องระบายปริมาณสำรองภายในประเทศซึ่งสูงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 58 และ กรมศุลกากรของจีนรายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลใน เดือน มิ.ย. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 78 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 0.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ Platts รายงานตลาดน้ำมันดีเซล ในเอเชียยังคงอ่อนแอต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในตะวันออกกลางและอินเดียยังเบาบางกดดันราคา ถึงแม้ว่าจะมีอุปสงค์เพิ่มขึ้นจากเวียดนาม และอินโดนีเซีย สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60.9-64.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล