WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ENครจต-ก.พลังงาน ย้ำความจำเป็นโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด คือทางออก สร้างความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ และรักษาระดับค่าไฟฟ้าของคนทั่วประเทศไม่ให้สูงขึ้น แจงที่ผ่านมาได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมายสิ่งแวดล้อม และการรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างถูกต้อง

     นายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ขอชี้แจงถึงกรณีที่มีกลุ่มคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1 ให้ยกเลิกรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม 2 เสนอให้เลื่อนการเปิดประมูลโครงการฯ ในวันที่ 5 ส.ค. นี้ ออกไปไม่มีมีกำหนด 3 การตั้งคณะกรรมการร่วมกันก่อนมีการพิจารณาใดๆ นั้น

   กระทรวงพลังงานขอน้อมรับฟังความคิดเห็นพร้อมยืนยันว่า การเตรียมการสร้างโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ที่ จ.กระบี่ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ครบถ้วนตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และได้มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของทั้ง 2 โครงการควบคู่กันมาต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงพลังงานขอให้ประชาชนในพื้นที่ มั่นใจว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างแน่นอน

     ทั้งนี้ ความจำเป็นของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ที่ จ.กระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมที่เคยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ ของ กฟผ. อยู่แล้วนั้น ก็เพื่อจัดหาไฟฟ้าให้เพียงพอในอนาคตและเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีแนวโน้มของการใช้ไฟฟ้าในอัตราที่สูงขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะเป็นการกระจายความเสี่ยงของแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าสูงถึงเกือบร้อยละ 70 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ที่สำคัญต้นทุนของเชื้อเพลิงถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าต่อหน่วย จะทำให้ราคาค่าไฟฟ้ามีเสถียรภาพ ช่วยให้เศรษฐกิจของไทยก้าวหน้าไปได้อย่างมั่นคงและแข่งขันได้ในเวทีโลก เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ที่ราคาแพงกว่า

   นอกจากนี้ หากต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ (LNG) เพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อมาทดแทนการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินสะอาด ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาค่าไฟฟ้าที่จำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนเชื้อเพลิง กระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคมไทย รวมถึงการท่องเที่ยวและการพาณิชย์บริการด้วย และยังจะกระทบต่อคนไทยส่วนใหญ่ที่อาจต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น หากโครงการโรงไฟฟ้าฯ ต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนดตามข้อเรียกร้อง ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวเสริมท้าย

นายกฯ มอบก.พลังงานสร้างความเข้าใจเครือข่ายค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่

     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานเข้าไปพูคคุยทำความเข้าใจกับกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จังหวัดกระบี่ที่มาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งเรื่องนี้หากไม่สร้างภาคใต้จะมีปัญหาเรื่องการใช้ไฟฟ้า เพราะอนาคตข้างหน้าจะมีการลดการส่งก๊าซเพื่อทำไฟฟ้า ดังนั้น ต้องหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าเอาไว้ ซึ่งเรื่องจะต้องผ่านขั้นตอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EIA และ HIA ดังนั้นทั้งกระทรวงพลังงานและชาวบ้านควรจะพูดคุยเพื่อให้ได้ข้อยุติ

     ส่วนข้อเสนอให้ใช้น้ำมันปาล์มนำไปผลิตเป็นไฟฟ้านั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่ขัดข้องกับข้อเสนอนี้ เพราะอยู่ในแผนพลังงานอยู่แล้ว แต่ต้องไปดูในรายละเอียดว่า เอกชนรายใดจะเข้ามาลงทุน ใช้เงินทุนเท่าไร่ รวมถึงต้องพิจารณาว่าวัตถุดิบเพียงพอหรือไม่

    "ถ้าทำโรงงานขนาดเล็กมันพอทำได้ แต่ต้องใช้ในพื้นที่เล็กๆ จำกัด แต่จะพอไปขับเคลื่อนเยอะๆ ได้หรือไม่ ไม่ได้หรอก...ถ้ามันสร้างไม่ได้แล้วเกิดปัญหามากขึ้น ไฟฟ้าไม่พอใช้ในภาคใต้ ใครรับผิดชอบ พวกมาต่อต้านรับผิดชอบหรือไม่ ไม่รับผิดชอบทั้งสิ้น ผมไม่ได้ขัดแย้งท่าน ผมฟังเสียงทุกคน แต่ผมต้องทำตามหลักการหลักเกณฑ์...ถ้าให้ชัดผมก็บอกว่า ไม่สร้าง ไม่สร้างก็ไม่มีไฟฟ้าใช้ ค่าไฟฟ้าภาคใต้ก็สูงกว่าภาคอื่น เลือกเอา ผมก็พร้อมทำทุกอย่าง แต่อย่ามาร้องว่าไม่มีไฟฟ้าใช้"พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า ขณะนี้โครงการฯอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานฉบับสมบูรณ์โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อดำเนินงานตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

   สำหรับ การดำเนินงานโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในเชิงพาณิชย์ ในการกำจัดมลภาวะทางอากาศและโลหะหนักต่างๆ ตามมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับประเทศและเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลก เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ที่โรงไฟฟ้าไม่ได้สร้างผลกระทบต่อการท่องเที่ยว

     "ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา กฟผ. ได้รับฟังข้อห่วงใยและแก้ไขปรับปรุงการดำเนินงานทั้งด้านการผลิตไฟฟ้าและการขนส่งเชื้อเพลิง เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ตามข้อเสนอของชุมชน ทั้งกลุ่มท่องเที่ยว ประมง เกษตรกรรม ตลอดจนนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม จากการรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ระหว่างเดือนสิงหาคม 2555ตุลาคม 2557" กฟผ.ระบุ

กฟผ.ย้ำจำเป็นสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ รองรับดีมานด์ไฟภาคใต้พุ่ง-ต้นทุนต่ำ

    การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ยืนยันความจำเป็นต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับพื้นที่ภาคใต้ ขณะที่ยังมีต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำเพียง 2.70 บาท/หน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศในระยะยาวไม่สูงเกินไป พร้อมยืนยันกฟผ.สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยการเตรียมพัฒนาระบบส่งเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั่วภูมิภาค

    "โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ มีความจำเป็นในการเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าหลัก เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากตั้งแต่ปี 62 เป็นต้นไป กำลังผลิตไฟฟ้าที่พึ่งได้ ในพื้นที่ภาคใต้จะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า หากไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ จะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการควบคุมมลภาวะ และยังมีต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำเพียง 2.70 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศในระยะยาวไม่สูงเกินไป"นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว

     นายสุนชัย กล่าวอีกว่า กรณีกลุ่มประชาชนบางกลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ และมีความวิตกกังวลว่า จะสร้างผลกระทบต่อการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่และอันดามันนั้น กฟผ. พร้อมสร้างความเข้าใจและรับฟังข้อวิตกกังวลต่างๆ และยินดีรับข้อเสนอแนะเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานโครงการ เนื่องจากการผลิตพลังงานทุกชนิดย่อมมีทั้งข้อดี และข้อจำกัด แต่เทคโนโลยีทันสมัยและระบบจัดการตามมาตรฐานสากล สามารถควบคุมมลภาวะได้ดีกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดหลายเท่าตัว ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ และชุมชน สามารถตรวจสอบได้ตลอดระยะเวลาของการดำเนินงาน

    การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในปี 55 กฟผ. ได้นำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากชุมชนมาศึกษาทุกกลุ่มเพิ่มเติม ทั้งกลุ่มประมง และท่องเที่ยว ประกอบการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เช่น เรื่องการสร้างท่าเรือ การขนส่งถ่านหินที่เป็นผลจากการร่วมปรึกษาหารือกับชุมชน สำหรับเส้นทางการขนส่งถ่านหินจะใช้เส้นทางเดียวกับเรือขนส่งปัจจุบัน รวมทั้งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันเตาซึ่งใช้มาจริงตั้งแต่ปี 47 ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อจุดดำน้ำ แหล่งปะการัง และหญ้าทะเลใด ๆ นอกจากนี้โครงการยังได้ออกแบบติดตั้งระบบดักจับไอปรอทเพิ่มเติม เพื่อลดความวิตกกังวลเรื่องสารโลหะหนัก และกำหนดค่าควบคุมมลภาวะทุกตัว เช่น ออกไซด์ของไนโตรเจน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฝุ่นละอองและโลหะหนัก ดีกว่ามาตรฐานทางกฎหมายถึง 3 เท่าตัว

     ทั้งนี้ การดำเนินโครงการได้คำนึงถึงยุทธศาสตร์ของจังหวัดกระบี่ที่มุ่งสู่การเป็นเมืองสีเขียว (Krabi go green) การออกแบบของโรงไฟฟ้าและมาตรการในการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ กฟผ. ได้กำหนดนโยบายพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ทันสมัยของจังหวัด ที่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศและเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงต่างๆ ของโลก เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลี รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซียก็มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นตลอดเวลา แต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงไม่ใช่สาเหตุที่จะทำให้การท่องเที่ยวลดลง

     ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนร้อยเปอร์เซนต์นั้น กฟผ. มีแผนระยะสั้นและระยะยาวในการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเตรียมพัฒนาระบบส่งรองรับทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จเพื่อให้สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์และพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ รวมทั้งการรับซื้อน้ำมันปาล์มมาผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่เพื่อช่วยพยุงราคา ซึ่งหากใช้ราคาประกัน ต้นทุนไฟฟ้าจะประมาณ 5.80 บาท เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่ง คือการพัฒนาพลังงานทดแทนจะไม่สามารถพัฒนาให้ทันกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก จะต้องพัฒนาพร้อม ๆ กันจำนวนมาก โรงไฟฟ้าหลักยังจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาควบคู่กันไป

    สำหรับ ทุกประเทศที่สนับสนุนพลังงานทดแทนก็จะต้องมีโรงไฟฟ้าหลักอย่างเพียงพอเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ประชาชนคงต้องยอมรับด้วยว่า จะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าเช่นกัน เช่นค่าไฟฟ้าของเยอรมนี หน่วยละ 12 บาท ซึ่งผลมาจากการอุดหนุนพลังงานทดแทน

   นายสุนชัย กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่มีความสำคัญต่อระบบไฟฟ้าทั้งในภาพรวมและพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งการดำเนินการจะเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว(PDP 2015) โดยจะนำปัจจัยต่างๆ และข้อวิตกกังวลมาพิจารณาอย่างรอบด้าน พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ มาดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับโรงไฟฟ้าได้อย่างเกื้อกูลกัน

    อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!