- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 20 July 2015 23:27
- Hits: 2898
ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 50 - 55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 55 – 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (20 – 24 ก.ค. 58)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะยังคงได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด หลังอิหร่านและชาติมหาอำนาจทั้งหก (P5+1) ได้บรรลุข้อตกลงปัญหานิวเคลียร์ที่ยืดเยื้อมานาน และมีแนวโน้มที่อิหร่านจะส่งออกน้ำมันดิบมากขึ้นในปีหน้าประกอบกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นและกดดันราคาน้ำมันดิบได้ รวมถึงความกังวลวิกฤติหนี้สินของกรีซซึ่งยังมีกลุ่มประชาชนออกมาประท้วงคัดค้านมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
14 ก.ค. 58 ที่ผ่านมา อิหร่านและกลุ่มชาติมหาอำนาจทั้งหก (P5+1) สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องการจำกัดศักยภาพโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านหลังจากยืดเยื้อมานานกว่า 13 ปี ส่งผลให้ตลาดมีความกังวลต่อการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นและอาจสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด ทั้งนี้ การคว่ำบาตรที่ผ่านมาส่งผลให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้เพียง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากที่เคยส่งออกน้ำมันดิบที่ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2555 อย่างไรก็ดี หลังจากมีการผ่อนปรนมาตรการการคว่ำบาตร ตลาดยังต้องติดตามต่อว่าอิหร่านจะส่งออกน้ำมันดิบเข้ามาสู่ตลาดโลกมากน้อยเพียงใด โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าอิหร่านจะเพิ่มอัตราการผลิตมากขึ้นราว 3 - 7 แสนบาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2559 นอกเหนือจากน้ำมันดิบที่ถูกเก็บไว้ในเรือบรรทุกน้ำมัน (Floating storage) ของอิหร่านอีกราว 40 ล้านบาร์เรล
จับตาธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) ที่อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในสิ้นปีนี้ หลังล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 58 ที่ผ่านมา นางเจเน็ต เยลเลน ประธาน FED กล่าวชัดว่า FED มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ โดยมองว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังดำเนินไปด้วยดีในอัตราที่ร้อยละ 1.8 – 2.0 ต่อปี โดย FED อาจพิจารณาการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. นี้ หลังจากที่คงอัตราดอกเบี้ย (Federal Funds Rate) ที่ระดับต่ำใกล้ศูนย์มาตั้งแต่ปี 2551 นอกจากนี้ FED แสดงความเชื่อมั่นว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2 ต่อปีตามที่ตั้งเป้าไว้ด้วย ทั้งนี้ หาก FED ตัดสินใจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ซึ่งจะกดดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวลดลงได้
จับตาการแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้ของกรีซ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 58 ที่ผ่านมา รัฐสภากรีซได้มีมติอนุมัติร่างกฎหมายปฏิรูปเศรษฐกิจฉบับใหม่ด้วยคะแนน 229 เสียง ต่อ 64 เสียง และมีสมาชิกสภางดออกเสียง 6 คน เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐบาลกรีซได้ทำข้อตกลงร่วมกับกลุ่มเจ้าหนี้ยูโรโซนเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 58 ที่ผ่านมา ร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้กรีซได้รับความช่วยเหลือทางการเงินรอบที่ 3 ประมาณ 8.6 หมื่นล้านยูโรจากกลุ่มประเทศยูโรโซน ซึ่งจะช่วยให้กรีซรอดพ้นจากการผิดนัดชำระหนี้และไม่ต้องออกจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน อย่างไรก็ดี ตลาดยังต้องจับตาว่ากรีซจะสามารถชำระหนี้จำนวน 3.5 พันล้านยูโรแก่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จะครบกำหนดชำระในวันจันทร์ที่ 20 ก.ค. 58 ได้หรือไม่
ติดตามทิศทางเศรษฐกิจของจีน หลังมูลค่าในตลาดหุ้นจีนหดตัวลงมากกว่าร้อยละ 30 นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จีนขยายตัว ที่ร้อยละ7.0 ในไตรมาสที่สองของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี และถือเป็นอัตราการขยายตัวที่อ่อนแอที่สุดของจีนนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2552 ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก นอกจากนี้ NBS ได้รายงานยอดค้าปลีกจีนเดือนมิ.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ10.6 จากปีก่อนหน้า ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยนักวิเคราะห์คาดว่าการฟื้นตัวของยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย.อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าภาคเศรษฐกิจของจีนยังไม่ได้รับผลกระทบจากการตกต่ำของตลาดหุ้นมากนัก
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต ดัชนีภาคบริการ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐฯ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีภาคการผลิต ดัชนีภาคบริการยูโรโซน และดัชนีภาคการผลิตจีน HSBC
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 – 17 ก.ค. 58)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 50.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.63 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 57.10 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 55 เหรียญสหรัฐฯ โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดัน ท่ามกลางความกังวลต่อการส่งออกของอิหร่านที่มีแนวโน้มมากขึ้น หลังจากอิหร่านและชาติมหาอำนาจบรรลุข้อตกลงเรื่องจำกัดศักยภาพโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ประกอบกับความกังวลต่อเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวลงอาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันดิบโลก อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางยังคงมีอย่างต่อเนื่อง