- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 19 July 2015 13:35
- Hits: 2177
พพ.คาดโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการชัดเจนปลาย ก.ค.ทั้งโซนนิ่ง-กำหนด COD
นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)กล่าวว่า การประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร(โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ) จำนวน 800 เมกะวัตต์ (MW) ที่จะมีขึ้นในเดือน ส.ค.58 จะมีการกำหนดปริมาณรับซื้อในแต่ละพื้นที่ตามศักยภาพของสายส่งที่สามารถรองรับได้เป็นสำคัญ โดยขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) และพพ. จะร่วมกันพิจารณาศักยภาพของแต่ละพื้นที่ หลังจากนั้นจะขอความเห็นชอบจากรมว.พลังงานและนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่จะมีขึ้นในปลายเดือนก.ค.นี้
"การรับซื้อไฟฟ้าจากส่วนนี้ไม่ได้เข้าทั้งหมด 800 เมกะวัตต์ อยู่ที่ความสามารถของ grid (สายส่ง) เป็นเกณฑ์หลักคิดสำคัญว่าบริเวณไหนเข้าได้เท่าไหร่ กกพ.และพพ.ร่วมกันทำหลักเกณฑ์ก็จะขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรี และนำเข้าสู่ที่ประชุมกพช. ซึ่งจะพิจารณาเรื่องเกณฑ์นี้และเรื่องการขยายเวลารับซื้อไฟฟ้าของโครงการ ก็คาดว่าน่าจะรู้ภายในเดือนนี้"นายธรรมยศ กล่าว
ด้านนายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กกพ.อยู่ระหว่างการกำหนดพื้นที่รับซื้อไฟฟ้าตามโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการดังกล่าว แต่ต้องเร่งเคลียร์โครงการค้างท่อต่างๆที่มีอยู่กว่า 1 พันเมกะวัตต์ให้เรียบร้อยก่อน รวมถึงการจัดสรรสายส่งสำหรับรองรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ชีวมวลต่างๆด้วย จึ่งจะสามารถจัดสรรได้ว่าพื้นที่ใดมีศักยภาพที่จะรองรับกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ได้ในอัตราเท่าใด
อนึ่ง เช้านี้ กกพ.ได้ขอให้ผู้ประกอบการโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่ยังคงค้างในระบบ Adder ทุกราย เร่งรัดดำเนินการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถคำนวณถึงปริมาณสายส่งคงเหลือที่จะรองรับกำลังการผลิตใหม่ได้ต่อไป
โดยก่อนหน้านั้นพพ.คาดว่าในช่วง 2 ปีนี้สายส่งทั่วประเทศจะรองรับกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ได้อีกเพียง 800 เมกะวัตต์ โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพของสายส่งรองรับมากที่สุดอยู่ในภาคตะวันตก รองลงมาเป็นภาคกลาง และภาคตะวันออก ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ค่อนข้างมีข้อจำกัดของสายส่ง พร้อมทั้งเตรียมเสนอที่ประชุมกพช.เลื่อนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ(COD) ของโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการออกไปเป็นภายในมิ.ย.60 จากเดิมภายในมิ.ย.59 ด้วย
ขณะที่วันนี้กระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงของประเทศแถลงความคืบหน้าของโครงการอนุรักษ์พลังงานและผลิตพลังงานทดแทน หลังจากได้รับการสนับสนุนจากเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในช่วงปี 57-58 จำนวน 6 ชุดโครงการหลัก รวมงบประมาณ 2.43 พันล้านบาท แบ่งเป็น โครงการต้นแบบการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบขยะขนาดเล็ก ,โครงการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่เสี่ยงภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
โครงการอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการตามแนวพระราชดำริ ,โครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในหน่วยงานด้านความมั่นคง ,โครงการสถานีผลิตไฟฟ้าในหน่วยงานราชการ และโครงการสนับสนุนพลังงานจังหวัดเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
นายคุรุจิต กล่าวว่า สำหรับโครงการที่มีผลสำเร็จและมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม คือ โครงการชุดที่สอง ซึ่งเป็นการติดตั้งเสาไฟพร้อมโคมส่องสว่างแบบโซลาร์เซลล์ กับโครงการพัฒนาระบบแสงสว่างด้วยชุดโคมส่องสว่างแบบแอลอีดี (LED) ซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ได้จัดทำดำเนินการแล้วเสร็จครบทั้งหมดเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา
ขณะที่โครงการในชุดเดียวกัน ในส่วนของโครงการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานแสงอาทิตย์แบบรถเคลื่อนที่ในฐานปฏิบัติการที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นั้นก็ได้เริ่มการผลิตรถพ่วงเคลื่อนที่ต้นแบบกำลังอยู่ระหว่างการประกอบและติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ โดยคาดหมายว่าจะแล้วเสร็จสามารถส่งมอบแก่หน่วยงานความมั่นคงแห่งนี้ได้ประมาณปลายปีนี้
อินโฟเควสท์