- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 13 July 2015 18:08
- Hits: 2454
พลังงาน-คปพ.งัดข้อ เปิดศึกชิงร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เกมวัดใจ'รบ.-สนช.'
มติชนออนไลน์ : ดูเหมือนความเห็นต่างเรื่องการจัดการปิโตรเลียมของประเทศระหว่างกระทรวงพลังงานและภาคประชาชนที่ขัดแย้งกันมาตลอด จะกลับมาปะทุอีกครั้ง หลังจากว่างเว้นให้หายใจ (แบบไม่คล่อง) ไประยะหนึ่งเมื่อช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา และเริ่มถี่และเข้มข้นมากขึ้น ทั้งจากกระทรวงพลังงานและภาคประชาชน ผ่าน "เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน หรือ คปพ."
ปมขัดแย้งเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 21
ความขัดแย้งเดิมเกิดจากกระทรวงพลังงานเปิดให้เอกชนแสดงตัวเพื่อขอสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รูปแบบสัมปทาน ไทยแลนด์ ทรีพลัส ครั้งที่ 21 จำนวน 29 แปลง บริเวณอ่าวไทยและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ตุลาคม 2557-กุมภาพันธ์ 2558 แต่ถูกเครือข่ายภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหว รวมตัวยื่นหนังสือคัดค้านต่อรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะไม่ต้องการระบบสัมปทาน แต่ต้องการให้ไทยใช้ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ (พีเอสซี) หรือระบบจ้างผลิต เพราะเชื่อว่าประเทศไทยอุดมไปด้วยทรัพยากรปิโตรเลียม
การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนแต่เดิมแทบจะไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลมากนัก เพราะนายกรัฐมนตรียืนยันเสียงแข็งว่าไทยจำเป็นต้องเปิดให้เอกชนสำรวจเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ร่อยหรอ เพราะข้อมูลจากกระทรวงพลังงานระบุว่า ปริมาณสำรองที่มีปิโตรเลียมแน่นอนของไทยหรือพี 1 เหลือใช้อีกประมาณ 6-7 ปีเท่านั้น ขณะที่ประเทศไทยต้องการปิโตรเลียมเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของไทย และช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องเติบโตในอนาคต
- รัฐบาลแช่แข็งปัญหารอวันปะทุ
ต่อมารัฐบาลก็เริ่มถอยหลังทีละก้าวด้วยการเลื่อนการแสดงตัวของเอกชนออกไปเป็นเดือนมีนาคม 2558 พร้อมปรับแก้ประกาศกรมเชื้อเพลิง โดยระบุว่า การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งนี้จะเปิดให้บางแปลงใช้ระบบพีเอสซี แต่ต้องอยู่ที่รัฐบาลจะตัดสินใจ ขณะเดียวกันก็เปิดเวทีให้กระทรวงพลังงานและภาคประชาชนได้แสดงข้อมูล ถามตอบข้อข้องใจระหว่างกัน พร้อมกับถ่ายทอดสดทางช่องของรัฐ สร้างความมั่นใจให้กับภาคประชาชนมากขึ้น จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีตัดสินใจเลื่อนการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 ออกไป 3 เดือน และระหว่างนี้ได้ตั้งคณะกรรมการร่วม 2 ฝ่าย เพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อเป็นทางออกของกฎหมาย และปรับแก้กฎหมายให้เหมาะสมที่สุด โดยกฎหมายที่ถูกนำมาพิจารณา คือ ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม และร่างพระราชบัญญัติภาษีปิโตรเลียม
การทำเช่นนี้ก็เพื่อรักษาคะแนนนิยมของรัฐบาลไว้ และต้องการให้การทำงานของรัฐบาลได้รับการยอมรับมากขึ้น ทำให้ภาคประชาชนเกิดความมั่นใจและคิดว่าเป็นฝ่ายชนะ ประกอบกับข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงานที่สนับสนุนแนวทางกระทรวงพลังงานได้ถูก สปช.ตีตก
ซึ่งในความเป็นจริง รัฐบาลแค่แช่แข็งปัญหาไม่ให้ลุกลามเท่านั้น เพราะหากจับท่าทีของกระทรวงพลังงานให้ดีจะพบว่าก็ยังคงยืนยันในแนวทางเดิม และยังไม่เข้าร่วมคณะกรรมการที่มีสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหัวขบวนด้วย
- พลังงาน-คปพ.เดินหน้ากฎหมายฉบับตัวเอง
กระทั่งเวลาผ่านไปจนจะครบกำหนด 2 ฝ่ายก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยฝ่ายภาคประชาชนเคลื่อนไหวร่วมเวทีเสวนากับคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ศึกษาปัญหาการใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เข้ามาพิจารณาเรื่องนี้ด้วย เพราะปลายทางต้องพิจารณาร่างกฎหมายปิโตรเลียมที่มีการปรับแก้ 2 ฉบับอยู่แล้ว โดยผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของ สนช.ให้ความเห็นว่าไทยควรมีระบบพีเอสซีเพื่อเป็นทางเลือกในการสำรวจปิโตรเลียม พร้อมข้อเสนอให้จัดเก็บรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้น รวมทั้งการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งข้อเสนอนี้เนื้อในเหมือนกับมีร่างกฎหมายฉบับประชาชนสอดแทรกอยู่แล้ว
ฟากกระทรวงพลังงานก็เดินหน้าเสนอร่างกฎหมายปิโตรเลียมใหม่ 2 ฉบับเช่นกัน โดยนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ส่งสัญญาณว่าการพิจารณาร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ น่าจะสามารถผ่าน สนช.และประกาศเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 ได้อีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้
- คปพ.เปิดเกมค้านร่างกม.ฉบับกระทรวงพลังงาน
เวลาไล่เลี่ยกัน คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ฉบับกระทรวงพลังงาน และอยู่ระหว่างเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบกฎหมาย ทำให้ต้นเดือนกรกฎาคม คปพ.ออกมาแถลงข่าว "ขอให้ ครม.มีมติระงับกฎหมายปิโตรเลียมที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน" เพราะมองว่ารัฐบาลพยายามผลักดันกฎหมายโดยไม่สนใจผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ศึกษาปัญหาการใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 ของ สนช. ที่ดำเนินการตามที่รัฐบาลมอบหมาย จึงเรียกร้องให้ประชาชนทั่วประเทศร่วมลงชื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม
โดยนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา ระบุว่า ขอให้ประชาชนร่วมแสดงพลังด้วยตัวเอง พร้อมบอกว่าร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงานไม่ตอบโจทย์ตามที่ภาคประชาชนเรียกร้อง อาทิ นิยามปิโตรเลียมเป็นของประชาชน แต่กระทรวงพลังงานยังคงกำหนดเป็นปิโตรเลียมเป็นของรัฐ เท่ากับว่าภาครัฐสามารถบริหารทรัพยากรได้ตามอำเภอใจ
- ลั่นพร้อมถูกจับ
นอกจากนี้ ในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ฉบับกระทรวงพลังงาน ในหมวด 3 ทวิ สัญญาแบ่งปันผลผลิต ระบุว่า มาตรา 53/4 สัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) มีข้อกำหนดและเงื่อนไขว่าสัญญาจะมีอายุไม่เกิน 39 ปี แสดงให้เห็นว่าจะมีผลผูกพันต่อประเทศไปนานถึง 39 ปีเช่นกัน ดังนั้นการปฏิรูปพลังงานต้องเร่งดำเนินการในยุคสมัยนี้ อีกทั้งยังไม่ยอมกำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนว่าจะใช้ระบบสัมปทานหรือพีเอสซีในพื้นที่ปิโตรเลียมแหล่งต่างๆ ด้วย
ด้าน พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี แกนนำ คปพ. บอกว่า หากรัฐสนับสนุนกฎหมายของกระทรวงพลังงานโดยไม่สนใจข้อเสนอของภาคประชาชนและข้อเสนอของคณะกรรมการวิสามัญของ สนช. ก็ไม่ต่างกับละครลิงหลอกประชาชน ซึ่งจะปกป้องประโยชน์ประเทศชาติต่อไป แม้ว่าจะต้องถูกจับกุมเช่นเดียวกับกลุ่มนักศึกษาดาวดินก็ตาม
ดูแล้วช่างประจวบเหมาะกับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้จริงๆ!!
- โยน'บิ๊กตู่'ตัดสินใจ
เมื่อโดนกระตุก นายณรงค์ชัยระบุว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ขณะที่นายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงาน ตอกกลับว่า การเปิดให้สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 เป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีความจำเป็นต่อประเทศ ที่ผ่านมาได้รับฟังความเห็นจากประชาชนมาตลอด ทำให้นโยบายล่าช้ามาแล้วกว่าปี และการที่กระทรวงไม่รับฟังความเห็นจากคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ศึกษาเรื่องนี้ของ สนช.นั้น เพราะคณะกรรมาธิการวิสามัญฯไม่ได้เสนอกฎหมายเช่นเดียวกับกระทรวงพลังงาน เพียงแต่เสนอความเห็น ดังนั้นจึงคาดว่าร่างกฎหมายของพลังงานจะผ่านความเห็นชอบจาก สนช.ได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ แต่ สนช.ก็สามารถปรับแก้ได้ ส่วนการกำหนดระยะเวลาผลิต 39 ปีที่ คปพ.ท้วงติง ก็เป็นหลักเกณฑ์ปกติของทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบแบ่งปันผลประโยชน์ (พีเอสซี) และสัมปทาน เพราะคำนวณจากระยะเวลาสิทธิสำรวจรวม 9 ปี และระยะเวลาขุดเจาะรวมต่ออายุ 30 ปี จึงรวมเป็น 39 ปี
- ซัดช้าอาจไม่เหลือผลประโยชน์ให้แบ่ง
"เรื่องนี้รัฐบาลต้องตัดสินใจ หากมีแต่ความกังวลเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์จะทำให้ยิ่งล่าช้า ในที่สุดอาจไม่เหลือผลประโยชน์ให้แบ่งปันก็ได้" นายคุรุจิตย้ำ
และดูเหมือนครั้งนี้กระทรวงพลังงานจะตั้งรับดี เพราะไม่กี่วันถัดมา นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชพ.) เปิดแถลงข่าวด่วนก่อนการรวมตัวของ คปพ.เพียง 1 วัน โดยระบุว่าร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับดำเนินการตามขั้นตอนปกติ และในกฎหมายก็ระบุว่า จะทำระบบใดหากออกประกาศเชิญชวนรอบใหม่ก็จะต้องเปิดเผยให้รับรู้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุด และให้ภาครัฐได้ประโยชน์จากการจัดเก็บรายได้เต็มที่ จึงจะมีความโปร่งใสและเป็นธรรมอย่างแน่นอน ส่วนกรณีที่ คปพ.เสนอให้รัฐบาลแก้ไขสัญญาและขอเข้าไปในพื้นที่ และถ่ายโอนสิทธิก่อนสิ้นสุดอายุล่วงหน้า 5 ปี ยืนยันว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ดำเนินการไม่ได้ และกระทบต่อการลงทุนระหว่างประเทศ เพราะนอกจากไม่ส่งเสริมการลงทุน ไม่เพิ่มสัดส่วนรายได้ให้รัฐแล้ว ยังไม่สอดคล้องกับศักยภาพปิโตรเลียมของประเทศ เพราะเน้นปริมาณเงินที่รัฐจะได้มากกว่าปริมาณงาน
เป็นที่น่าแปลกใจว่าการตั้งโต๊ะแถลงข่าวของนางพวงทิพย์ครั้งนี้เกิดการเผชิญหน้ากัน เพราะมีตัวแทนจาก คปพ.เข้าร่วมด้วย และตัวแทน คปพ.ได้วิจารณ์ร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงาน ทำให้เกิดการโต้เถียงกัน กระทั่งวันที่ 9 กรกฎาคม ตัวแทน คปพ.ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลและประธาน สนช. เพื่อยืนยันว่าไม่ยอมรับร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ
- นายกฯโยนสนช.ตัดสินปัญหา
เรื่องนี้ดูท่าแล้วไม่ได้รับการตอบสนองจากนายกรัฐมนตรีมากนัก เพราะระบุว่าต้องขึ้นอยู่กับ สนช. ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ชี้แจงและตอบปัญหาต่างๆ อยู่ตลอด หากต้องตามใจทุกกลุ่มที่ร้องเรียน คงไม่สามารถเดินหน้าอะไรได้ ซึ่งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ต้องคำนึงหลายปัจจัย ทั้งการสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุน รวมถึงผลประโยชน์ที่เท่าเทียม แต่ถ้าอยากได้ผลประโยชน์ 100% ก็คงต้องขุดเอง
การโต้เถียงยังไม่สิ้นสุด ต้องลุ้นว่าสุดท้ายแล้ว สนช.จะเลือกฉบับไหนแน่
และหากเลือกแล้วแต่ไม่ตอบโจทย์ คปพ.จริง ความขัดแย้งคงฝังราก สุดท้ายผลเสียก็คงจะตกอยู่กับประเทศชาติ!!!