WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

OIL7สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 8-12 มิ.ย.58 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 15-19 มิ.ย.58 โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

 

            สัปดาห์ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น  0.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่  64.45  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ 62.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น  3.07  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 86.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลราคาลดลง 0.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่  75.70  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาได้แก่

 

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

·       การประชุมกลุ่ม OPEC เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 58 เผยแผนคงเพดานการผลิตน้ำมันดิบที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน เช่นเดิม ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมัน เนื่องจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีนักวิเคราะห์บางสำนักคาดว่า OPEC อาจปรับเพิ่มเพดาน ดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณการผลิต ณ ปัจจุบัน ซึ่งในเดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ประมาณ 31.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

·       Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Oil Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 มิ.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 4 แท่นมาอยู่ที่ 642 แท่น

·       Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 มิ.ย. 58 ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน 6.8 ล้านบาร์เรล  อยู่ที่ระดับ 470.6 ล้านบาร์เรล ปรับตัวลดลงมากกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์คาดการณ์ซึ่งไว้ที่ 1.7 ล้านบาร์เรล

·       Bloomberg รายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากอเมริกาใต้ของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. 58 แตะระดับสูงสุดนับแต่เดือน ม.ค. 56 ที่ 3.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยสหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันดิบจาก Venezuela อยู่ที่ 1.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน (+0.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน) สูงสุดในรอบ 2 ปี เนื่องจากความต้องการจากบริเวณ US Gulf Coast (PADD 3) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

 

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

    นาย Ahmed Al-Subaey กรรมการผู้จัดการบริหารของบริษัท Saudi Aramco กล่าวว่าซาอุดีอาระเบีย พร้อมที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือนหน้าที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง หากมีอุปสงค์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ซาอุดีอาระเบียได้มีการเจรจาเพิ่มปริมาณการซื้อขายกับผู้ซื้อในอินเดียอีกด้วย

    บริษัท Shell รายงาน Arctic Challenger เรือลำแรกของกองเรือขุดเจาะน้ำมันดิบบริเวณ Arctic เริ่มออกเดินทางไปยังทวีป Alaska เพื่อที่จะกลับมาดำเนินการขุดเจาะน้ำมันดิบอีกครั้ง โดยคาดว่าจะเริ่มการสำรวจแหล่งน้ำมันดิบในทะเล Chukchi และ Beaufort ได้ในเดือนหน้า อนึ่ง Shell หยุดการขุดเจาะน้ำมันดิบตั้งแต่ปี 2555 หลังเกิดปัญหาที่แท่นขุดเจาะ

    กรมศุลกากรของจีนเผยจีนนำเข้าน้ำมันดิบ ในเดือน พ.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 10.9% หรือ 0.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 5.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดตั้งแต่เดือน มิ.ย. 56 เนื่องจากการซื้อน้ำมันดิบเข้าคลังเพื่อสำรองกักเก็บชะลอตัว และโรงกลั่นอยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุงโดย Shut in Capacity อยู่ที่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน คาดว่าปริมาณการนำเข้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน มิ.ย. 58 จากอัตราการกลั่นที่สูงขึ้น กอปรกับ Vopak จะเปิดดำเนินการคลังกักเก็บน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์แห่งใหม่ ที่มีความจุประมาณ 7.6 ล้านบาร์เรล

    Intercontinental Exchange (ICE) รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 มิ.ย. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 16,111 สัญญา มาอยู่ที่ 207,647 สัญญา

 

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ                  

ราคาน้ำมันดิบเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง จากความกังวลของนักลงทุนต่อปริมาณอุปทานที่ยังคงมีแนวโน้มว่าจะเกินความต้องการของตลาด ข้อมูลจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ Blackrock รายงานว่านักลงทุนมีการดึงจำนวนเงินกว่า 540 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออกจากสินค้าโภคภัณฑ์ด้านพลังงาน (Energy Exchange-traded Products, ETPs) ในเดือน พ.ค. 58 เพื่อทำกำไรจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น และยังไม่มีสัญญาณว่าปริมาณอุปทานจะลดลง อนึ่ง ในเดือน เม.ย. 58 มีเม็ดเงินกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ดึงออกจาก ETPs ทางด้านปัจจัยพื้นฐานบริษัทน้ำมันในสหรัฐฯ กำลังจับตามองความผันผวนของลมเขตร้อนในบริเวณทางใต้ของอ่าวเม็กซิโก ซึ่งจากการรายงานของศูนย์พายุเฮอร์ริเคนแห่งชาติสหรัฐฯ (National Hurricane Center) เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คาดว่ามีโอกาสประมาณ 70% ที่อาจเกิดเป็นพายุเขตร้อนภายใน 48 ชั่วโมง สำหรับฤดูมรสุมในทะเล Atlantic ในปีนี้คาดว่าจะมีจำนวนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย อนึ่ง ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในอ่าวเม็กซิโกคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17% และ 5% ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของสหรัฐฯ ตามลำดับ ให้จับตามองการตัดสินใจของรัฐมนตรีการเงินของยูโรโซนในการประชุมที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 18 มิ.ย. 58 ซึ่งอาจเป็นการตัดสินความเป็นสมาชิกยูโรโซนของกรีซ และติดตามการประชุมเรื่องนิวเคลียร์ของอิหร่านซึ่งคาดว่าจะไม่สามารถยกเลิกการคว่ำบาตรได้ในเร็ววันนี้ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent, WTI และ Dubai จะเคลื่อนไหวในกรอบ 61.00 – 65.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 57.00 – 60.00  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  และ 60.00 – 64.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

  สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจาก Hindustan Petroleum Corp. Ltd. (HPCL) ของอินเดียประกาศปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Vizag ที่มีกำลังกลั่นอยู่ที่ 166,000 บาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะกลับมาดำเนินการในเดือน ก.ค. 58 นอกจากนี้ Pertamina ของอินโดนีเซียออกประมูลซื้อ Gasoline 92 RON ปริมาณ 100,000 บาร์เรล จำนวน 2 เที่ยวเรือ ส่งมอบวันที่ 26 - 28 มิ.ย. 58 และ 29 มิ.ย. -  1 ก.ค. 58 ทั้งนี้อินโดนีเซียออกประมูลซื้อ Gasoline ระดับสูงในไตรมาสที่ 2/58 เพื่อเตรียมรองรับความต้องการในช่วงเทศกาลรอมฎอน ขณะที่ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรอง Gasoline เชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 6 มิ.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 0.4 ล้านบาร์เรล หรือ 3.7 % อยู่ที่ 11.3 ล้านบาร์เรล   อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากรจีนรายงานตัวเลขเบื้องต้นของยอดส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปสุทธิในเดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ 120,000 ตัน จากการนำเข้า 2.32 ล้านตัน แต่ส่งออก 2.44 ล้านตัน ทำให้จีนเป็นผู้ส่งออกสุทธิเป็นเดือนที่ 2 ตั้งแต่เริ่มต้นปี 2558 และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 10 มิ.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 200,000 บาร์เรล อยู่ที่ 10.8 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 83.00 – 87.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 

 

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

   สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลลดลงจาก โรงกลั่น Liaohe ซึ่งมีกำลังการกลั่น 5 ล้านตัน ต่อปี ของบริษัท Petrochina กลับมาดำเนินการตามปกติ หลังจากปิดซ่อมบำรุงเป็นเวลา 40 วัน กอปรกับ Platts รายงานอุปทาน Gasoil 0.05%S ในเอเชียเพิ่มขึ้นจากจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ ขณะที่มีอุปสงค์จากซาอุดีอาระเบียเป็นหลักเพียงรายเดียว นอกจากนั้น Pertamina ของอินโดนีเซียคาดอุปสงค์ Gasoil ในช่วงเทศกาลรอมฎอน ลดลง 11 % จากปกติ อยู่ที่ 210,000 บาร์เรลต่อวัน และ PAJ รายงานปริมาณสำรอง Gas Oil เชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 6 มิ.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 0.1 ล้านบาร์เรล หรือ 1.4 % อยู่ที่ 10.4 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Energy Aspects รายงานอุปสงค์สำหรับการเดินทาง (Travel Demand) ของภูมิภาคเอเชียในเดือน เม.ย. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9% YoY เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากค่าโดยสารที่ถูกลงทั้งในอินเดียและจีน โดยในอินเดียมีความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา (Price Elasticity) มากทำให้อุปสงค์สำหรับการเดินทางเติบโตถึง 20.7% เทียบปีก่อนหน้าในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 10 มิ.ย. 58 ลดลง 0.4 ล้านบาร์เรล WoW อยู่ที่ 10.4 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 73.50 – 77.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!