- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 15 June 2015 22:42
- Hits: 1565
ไทยออยล์ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน15-19 มิ.ย. 58 และสรุปสถานการณ์ฯ 8-12 มิ.ย.58
“ราคาน้ำมันดิบผันผวน จับตาการประชุมเฟดและภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด”
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 58 - 63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 61 - 66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (15-19 มิย.58)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะมีแนวโน้มผันผวนในกรอบเดิม โดยในสัปดาห์นี้ ตลาดเฝ้าจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่น่าจะมีการนำประเด็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาพิจารณาร่วมกัน ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ค่อนข้างผันผวนและส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ด้านปัจจัยพื้นฐานเองก็คาดว่าจะยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด หลังกลุ่มโอเปกคงโควต้าการผลิตในระดับเดิมที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่การผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นกัน อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงเนื่องจากการเพิ่มปริมาณการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ เพื่อรองรับอุปสงค์น้ำมันเบนซินที่สูงมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน รวมถึงการคาดการณ์ต่างๆ ของสถาบันพลังงานโลกที่คาดว่าการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ น่าจะปรับลดลงในช่วงครึ่งปีหลังด้วย
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในวันที่ 16 – 17 มิ.ย. ว่าจะมีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ซึ่งจากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าในการประชุมครั้งนี้จะยังไม่มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นก็ตาม โดยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยน่าจะเป็นการประชุมในรอบเดือน ก.ย. อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระแสข่าวของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงส่งผลให้ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวอย่างผันผวน
ภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาดที่คาดว่าจะยังคงกดดันราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ หลังการประชุมโอเปก เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีมติคงโควต้าการผลิตน้ำมันดิบที่ระดับเดิมคือ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกที่ยังคงปริมาณการผลิตอยู่ในระดับที่สูงเช่นกัน โดยข้อมูลล่าสุดในเดือน พ.ค. พบว่า ซาอุดิอาระเบียผลิตน้ำมันดิบอยู่ในระดับที่สูงประมาณ 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปริมาณการผลิตของอิรักในเดือน พ.ค. ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน มาอยู่ที่ระดับ 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะยังคงลดลงต่อเนื่อง หลังโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นระหว่างฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ ในช่วงฤดูร้อน (มิ.ย. – ส.ค.) โดยล่าสุดปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่แล้วมีการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน โดยปรับลดลงราว 6.8 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า สู่ระดับ 470.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งถือว่าลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เกือบ 4 เท่า ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ก็ปรับลดลงเช่นกันราว 1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 58.0 ล้านบาร์เรล
ติดตามการเจรจาแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้กรีซว่าจะเป็นไปในทิศทางใด หลังกรีซมีกำหนดชำระหนี้กับ IMF งวดถัดไปกว่า 1.6 พันล้านยูโร ภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ และหลายฝ่ายยังคงกังวลว่ากรีซมีแนวโน้มที่จะขาดสภาพคล่องและไม่สามารถชำระหนี้ IMF ทันกำหนด หลังล่าสุดกรีซยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มเจ้าหนี้ได้ จากแผนปฎิรูปเศรษฐกิจล่าสุดที่มีการเสนอไป กลุ่มคณะกรรมาธิการยุโรปยังคงไม่เห็นด้วยกับแผนดังกล่าว ดังนั้นกรีซเหลือเวลาเพียง 3 สัปดาห์ที่จะเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้เพื่อให้ได้รับเงินช่วยเหลืองวดสุดท้ายมูลค่าประมาณ 7,200 ล้านยูโร ในการนำไปใช้ชำระหนี้ มิเช่นนั้นกรีซอาจต้องเผชิญกับการเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ได้
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้รับสวัสดิการว่างงานและดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (8 – 12 มิ.ย. 58)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 59.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.56 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 63.87 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 62 เหรียญสหรัฐฯ โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงสนับสนุนหลักจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงมากกว่าคาด ประกอบกับรายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน มิ.ย. ของทั้ง OPEC และ EIA ที่ออกมาคาดการณ์ว่า กำลังการผลิตน้ำมันจากหินดินดาน (Shale Oil) ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับลดลงในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ส่งผลให้ความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดคลี่คลายลงเล็กน้อย แม้ว่าผู้ผลิตกลุ่มโอเปกจะมีมติคงโควต้าการผลิตไว้เช่นเดิมในการประชุมเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา