- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 15 June 2015 22:41
- Hits: 1534
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ท่ามกลางความกังวลต่ออุปทานส่วนเกินจากซาอุดิอาระเบีย
-ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับตัวลดลง ท่ามกลางความกังวลต่ออุปทานส่วนเกินจากซาอุดิอาระเบีย โดยนายอาห์เมด อัล-ชูบาเอย์ ผู้บริหารฝ่ายการตลาดของ Saudi Aramco บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย เปิดเผยว่าทางบริษัทฯ อาจเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบขึ้น เพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์น้ำมันโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 58 โดยปัจจุบัน บริษัทฯ กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาจัดส่งน้ำมันกับผู้ซื้อในอินเดียเพิ่มเติม ทั้งนี้ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบียยังคงเดินหน้าผลิตน้ำมันในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มโอเปกต้องการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ และปล่อยให้กลไกตลาดผลักดันให้ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกต้องลดกำลังผลิตลง จากภาวะราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ
- ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้กรีซ หลังจากการเจรจาแก้ไขปัญหาหนี้กรีซยังไม่คืบหน้า โดยล่าสุดคณะผู้แทนของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ถอนตัวออกจากการเจรจาเรื่องวิกฤติหนี้ของกรีซที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลกรีซ สหภาพยุโรป (EU) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เนื่องจากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันในประเด็นสำคัญได้เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือไม่ให้กรีซล้มละลาย ทั้งนี้ ตัวแทนจาก IMF ยังคงยืนกรานในเรื่องการปรับลดสวัสดิการโครงการเงินบำนาญ การปรับขึ้นภาษี และมาตรการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งสวนทางกับความต้องการของรัฐบาลกรีซ อย่างไรก็ดี การถอนตัวของ IMF สร้างความกังวลต่อตลาด โดยอาจเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่การที่กรีซต้องออกจากยูโรโซน เนื่องจากรัฐบาลกรีซยังไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้งวดล่าสุดให้แก่ IMF ราว 1.6 พันล้านยูโร ก่อนเส้นตายวันที่ 30 มิ.ย. นี้ได้
+/- Baker Hughes รายงานตัวเลขจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงปรับลดลงต่อเนื่อง ในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา โดยล่าสุดจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (สิ้นสุด ณ วันที 12 มิ.ย.) ปรับลดลง 7 แท่น เป็นสัปดาห์ที่ 27 ติดต่อกัน สู่ระดับ 635 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 53 อย่างไรก็ตาม บริษัทน้ำมันบางส่วนในสหรัฐฯ ได้เริ่มทยอยกลับมาขุดเจาะน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) ในแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบหลักของประเทศ หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยราว 60 เหรียญสหรัฐฯ ในช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา
+/- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือน พ.ค. ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นปรับตัวขึ้นตามราคาพลังงาน และเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงการเพิ่มขึ้นของภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงยอดค้าปลีกที่มีการเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี และตัวเลขจ้างงานเมื่อศุกร์ที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินหลัก ทั้งนี้ยังเป็นการเพิ่มกระแสคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเบนซินได้รับแรงหนุนจากความต้องการที่สูงขึ้น เพื่อเตรียมนำไปใช้ในฤดูช่วงฤดูกาลถือศีลอดของชาวมุสลิมที่กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนจากตลาดน้ำมันเบนซินโลกที่ตึงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอุปสงค์ในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหน้าร้อนประจำปี
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ท่ามกลางภาวะอุปทานล้นตลาด หลังจากโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งในภูมิภาคที่เริ่มทยอยกลับมาดำเนินการตามปกติหลังจากฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงประจำปีในช่วงไตรมาส 2 ประกอบกับได้รับแรงกดดันจากปริมาณการส่งออกของจีนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีความต้องการน้ำมันดีเซลเพื่อนำไปผลิตพลังงานในช่วงฤดูร้อน
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 58-63 เหรียญสหรัฐฯ
ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 61-66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในวันที่ 16 – 17 มิ.ย. ว่าจะมีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ซึ่งจากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองว่าในการประชุมครั้งนี้จะยังไม่มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นก็ตาม โดยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยน่าจะเป็นการประชุมในรอบเดือน ก.ย. อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระแสข่าวของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะส่งต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันอย่างผันผวน
ภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาดที่คาดว่าจะยังคงกดดันราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ หลังการประชุมโอเปก เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีมติคงโควต้าการผลิตน้ำมันดิบที่ระดับเดิมคือ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกที่ยังคงปริมาณการผลิตอยู่ในระดับที่สูงเช่นกัน โดยข้อมูลล่าสุดในเดือน พ.ค. พบว่า ซาอุดิอาระเบียผลิตน้ำมันดิบอยู่ในระดับที่สูงประมาณ 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปริมาณการผลิตของอิรักในเดือน พ.ค. มีปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน มาอยู่ที่ระดับ 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังโรงกลั่นกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับโรงกลั่นหลายแห่งปรับเพิ่มกำลังผลิตขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้ที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวหน้าร้อนของสหรัฐฯ ซึ่งจะอยู่ระหว่างเดือน มิ.ย. – ส.ค. ของทุกปี
ติดตามการเจรจาแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้กรีซว่าจะเป็นไปในทิศทางใด หลังกรีซมีกำหนดชำระหนี้กับ IMF งวดถัดไปกว่า 1.6 พันล้านยูโร ภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ และหลายฝ่ายยังคงกังวลว่ากรีซมีแนวโน้มที่จะขาดสภาพคล่องและไม่สามารถชำระหนี้ IMF ทันกำหนด หลังล่าสุดจากกรีซยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับทางกลุ่มเจ้าหนี้ได้ โดยจากแผนปฎิรูปเศรษฐกิจล่าสุดที่มีการเสนอไป กลุ่มคณะกรรมาธิการยุโรปยังคงไม่เห็นด้วยกับแผนดังกล่าว ดังนั้นกรีซเหลือเวลาเพียง 3 สัปดาห์ที่จะเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้เพื่อให้ได้รับเงินช่วยเหลืองวดสุดท้ายมูลค่าประมาณ 7,200 ล้านยูโร ในการนำไปใช้ชำระหนี้ มิเช่นนั้นกรีซอาจต้องเผชิญกับการเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ได้