- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 12 June 2015 21:38
- Hits: 1345
ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น เหตุจากความกังวลต่อปัญหาหนี้สินของกรีซ
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับลดลงหลังจากที่นักลงทุนเข้ามาซื้อขายทำกำไรในช่วง 2 วันที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร เนื่องจากตลาดยังคงกังวลต่อปัญหาหนี้สินของกรีซ หลังจากกรีซไม่สามารถบรรลุข้อตกลงว่ากรีซจะปฏิรูปประเทศอย่างเข้มข้นเพื่อแลกกับเงินกู้งวดสุดท้ายที่ 7,200 ล้านยูโรจากเจ้าหนี้ทั้ง 3 ฝ่าย (IMF, คณะกรรมาธิการยุโรป และ ECB) โดยถ้ากรีซไม่ได้รับความช่วยเหลือภายในสิ้นเดือนนี้ กรีซอาจจะผิดชำระหนี้เนื่องจากภาวะเงินสดขาดมือ และอาจจะทำให้กรีซต้องออกจากกลุ่มประเทศยูโรโซน
- ธนาคารโลกได้ออกมาประกาศปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปี 2558 ว่าจะมีการขยายตัวลดลงเหลือ 2.8% จาก 3.0% ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา และกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ให้มีความระมัดระวังมากขึ้น หลังจากที่ประเทศต่างๆ ปรับราคาสินค้าบริโภคลดลง และอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่มีท่าทีจะปรับเพิ่มมากขึ้น
+ แต่อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันยังคงมีแรงสนับสนุน หลังจากที่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ประกาศตัวเลขคาดการณ์ของการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2558 ปรับเพิ่มขึ้น 280,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งส่งผลให้มีอุปสงค์น้ำมันทั้งหมดในปีนี้อยู่ที่ 94 ล้านบาร์เรล โดยมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างมากเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา รวมถึงเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น และสภาพอากาศที่หนาวเย็นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จึงกระตุ้นให้มีการใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น
- จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 6 มิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 2,000 ราย มาอยู่ที่ระดับ 279,000 ราย ซึ่งมากกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 277,000 ราย และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลงเหลือ 275,000 ราย แต่อย่างไรก็ตามตัวเลขยังคงต่ำกว่าที่ระดับ 300,000 ราย ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่
+ ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน พ.ค. ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 0.0% และใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1.3% โดยผู้บริโภคเพิ่มการใช้จ่ายมากขึ้น หลังจากที่มีท่าทีระมัดระวังการใช้จ่ายในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ แต่อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันเบนซินยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ที่เพิ่มมากขึ้นจากทางด้านเอเซียตะวันออกและเอเซียใต้ เนื่องจากเป็นช่วงก่อนที่จะเข้าเทศกาลถือศีลอดในช่วงกลางเดือนนี้ ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมันในอินเดียปิดซ่อมบำรุง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานของภูมิภาคยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันกลับมาดำเนินการหลังจากปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมันต่างๆ ในจีนปรับกำลังการผลิตสูงขึ้นหลังค่าการกลั่นปรับตัวสูงขึ้น
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 58-63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 61-66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในวันที่ 16 – 17 มิ.ย. ว่าจะมีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่อย่างไร ซึ่งจากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองว่าในการประชุมครั้งนี้จะยังไม่มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นก็ตาม โดยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยน่าจะเป็นการประชุมในรอบเดือน ก.ย. อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระแสข่าวของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะส่งต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันอย่างผันผวน
ภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาดที่คาดว่าจะยังคงกดดันราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ หลังการประชุมโอเปก เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีมติคงโควต้าการผลิตน้ำมันดิบที่ระดับเดิมคือ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกที่ยังคงปริมาณการผลิตอยู่ในระดับที่สูงเช่นกัน โดยข้อมูลล่าสุดในเดือน พ.ค. พบว่า ซาอุดิอาระเบียผลิตน้ำมันดิบอยู่ในระดับที่สูงประมาณ 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปริมาณการผลิตของอิรักในเดือน พ.ค. มีปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน มาอยู่ที่ระดับ 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังโรงกลั่นกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับโรงกลั่นหลายแห่งปรับเพิ่มกำลังผลิตขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้ที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวหน้าร้อนของสหรัฐฯ ซึ่งจะอยู่ระหว่างเดือน มิ.ย. – ส.ค. ของทุกปี
ติดตามการเจรจาแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้กรีซว่าจะเป็นไปในทิศทางใด หลังกรีซมีกำหนดชำระหนี้กับ IMF งวดถัดไปกว่า 1.6 พันล้านยูโร ภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ และหลายฝ่ายยังคงกังวลว่ากรีซมีแนวโน้มที่จะขาดสภาพคล่องและไม่สามารถชำระหนี้ IMF ทันกำหนด หลังล่าสุดจากกรีซยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับทางกลุ่มเจ้าหนี้ได้ โดยจากแผนปฎิรูปเศรษฐกิจล่าสุดที่มีการเสนอไป กลุ่มคณะกรรมาธิการยุโรปยังคงไม่เห็นด้วยกับแผนดังกล่าว ดังนั้นกรีซเหลือเวลาเพียง 3 สัปดาห์ที่จะเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้เพื่อให้ได้รับเงินช่วยเหลืองวดสุดท้ายมูลค่าประมาณ 7,200 ล้านยูโร ในการนำไปใช้ชำระหนี้ มิเช่นนั้นกรีซอาจต้องเผชิญกับการเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ได้