- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 04 June 2015 22:30
- Hits: 1907
เรกูเลเตอร์ จ่อขึ้นค่าไฟฐานพลังงานขู่ค้านถ่านหินประชาชนอ่วม
ไทยโพสต์ : วิภาวดีรังสิต * จับตาค่าไฟฟ้าฐานจ่อปรับขึ้น หลังเรกูเลเตอร์ชง กพช.พิจารณาภายในเดือน ก.ค.58 และมีผลบังคับใช้ ก.ย.-ธ.ค.นี้ พร้อมเดินหน้าประมูลโรงไฟฟ้าระบบฟีทอินทารีฟ ด้านพลังงานขู่ โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เกิด ประชาชนอ่วมจ่ายเพิ่ม 6 บาท 'นายกฯ'สั่งเร่งทำความเข้าใจประชาชน
นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์ เปิดเผยว่า ภายในเดือน ก.ค.2558 นี้ จะนำโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานของประเทศที่จะจัดทำขึ้นใหม่ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งจะทำให้เกิดการคำนวณค่าไฟฟ้าประเทศกันใหม่ โดยให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) กลับมาเริ่มต้นที่ศูนย์อีกครั้ง ขณะที่ค่าไฟฟ้าฐานจะปรับเปลี่ยนจาก 3.27 บาทต่อหน่วย ซึ่งยืนยันไม่ได้ว่าค่าไฟฟ้าฐานจะปรับขึ้นหรือไม่ ยังเปิดเผยไม่ได้ แต่จะมีผลต่อการคำนวณค่าไฟฟ้าของประชาชนใหม่ในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค.2558 นี้ ทันที
"ตอนนี้เรกูเลเตอร์ได้จัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานเสร็จไปแล้ว 98% โดยเหลือการเจรจากับ 3 การไฟฟ้าเรื่องแผนการลงทุนเป็นหลัก หากการไฟฟ้าใส่แผนการลงทุนสร้างสาย และส่งสร้างโรงไฟฟ้ามามาก จะทำให้ค่าไฟฟ้าฐานปรับขึ้นตามไปด้วย" นายพรเทพกล่าว
นายพรเทพกล่าวว่า กรอบ การประมูลซื้อขายไฟฟ้าตามระบบ "การให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (ฟีทอินทารีฟ)" จะเสร็จในเดือน ก.ค.2558 นี้เช่นกัน และจะเริ่มเปิดประมูลได้ทันที โดยเน้นกลุ่มโรงไฟฟ้าชีวมวล, ชีวภาพ , โซลาร์ฟาร์ม และลม ยกเว้นโรงไฟฟ้าขยะและน้ำ จะไม่มีการประมูล เพราะเป็นนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการเสริมการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี รวมทั้งพลังงานน้ำเป็นทรัพยากรที่มีข้อจำกัดเพราะมีบางพื้นที่เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ ระหว่างการพิจารณาวิธีการประ มูลว่า จะแบ่งประเภทเชื้อเพลิงเพื่อประมูลหรือร่วมประมูลทุกเชื้อเพลิงไปพร้อมกัน รวมทั้งอาจจะพิจารณาประมูลโดยกำหนดพื้นที่ (โซนนิ่ง) ที่มีสายส่งรองรับ เพราะหากประกาศประมูลโดยขาดสายส่งรองรับจะสร้างความเสียหายในอนาคต เป็นต้น
"ยอมรับว่าสายส่งไฟฟ้าภาคอีสานใช้เต็มหมดแล้วไปจนถึงปี 2560 ซึ่ง กฟผ.จะสร้างสายส่งใหม่และจะเปิดรอบรับการผลิตไฟฟ้าได้ประมาณปี 2561 เป็นต้นไป ส่วนภาคตะวันตกเหลือสายส่งรองรับไฟฟ้าได้ประมาณ 700-800 เมกะวัตต์ ภาคเหนือ 100 เมกะวัตต์ และภาคใต้ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ เป็นต้น" นายพรเทพกล่าว
นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องข้อมูลในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ที่ปรากฏในสังคมออนไลน์ ซึ่งไม่มี ความชัดเจน จึงต้องการให้หน่วยงานรัฐชี้แจงประชาชนให้เข้าใจเหตุและผลในระหว่างการปฏิบัติงานด้วย
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เพื่อปรับสมดุลการใช้เชื้อเพลิง แต่หากไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ตามแผนจำนวน 9 โรง ประมาณ 7,365 เมกะวัตต์ จะทำให้ค่าไฟ ฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 50-60 สตางค์ต่อหน่วย และทำให้ปลายแผนพีดีพีเกิดราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 6 บาทต่อหน่วย.