WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

OIL20สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 25-29 พ.ค.58 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 1-5 มิ.ย.58 โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

    สัปดาห์ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ 63.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ 61.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI)ลดลง 0.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 58.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95  ลดลง 2.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 82.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 1.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

·       ผลสำรวจจาก Bloomberg Intelligence Energy เผยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบัน และ คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ของสหรัฐฯ ในปี 2558 จะอยู่ที่ 9.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน มากกว่าที่ IEA คาดการณ์ไว้ที่ 9.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากมีแนวโน้มที่ปริมาณการผลิตจะปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 4/2558 หลังจากราคา  WTI แตะระดับสูงสุดของปี

·       สำนักข่าว Al Hayat ของซาอุดีอาระเบียที่มีชื่อเสียงด้านการออกข่าวเกี่ยวกับนโยบายพลังงานรายงาน OPEC ไม่มีแผนที่จะลดเพดานการผลิตที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมสามัญประจำปีในวันที่ 5 มิ.ย. 58 ที่จะถึงนี้ โดยยืนยันซาอุดีอาระเบียจะยังคงผลิตน้ำมันดิบที่ระดับสูง ( ปัจจุบันผลิตอยู่ที่ระดับ 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน) เพื่อที่จะรองรับความต้องการภายในประเทศที่สูงขึ้น

·       บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอิรัก (SOMO) มีแผนส่งออกน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. 58 ที่ 3.75 ล้านบาร์เรลต่อวันเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน  26%  ขณะที่  OPEC รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบในเดือนเม.ย. 58 ปริมาณ 30.84 ล้านบาร์เรลต่อวันเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 18,000  บาร์เรลต่อวัน

·       ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ สูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเดือน อยู่ที่ 96.691 จุด ณ วันที่ 26 พ.ค. 58 ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 8 ปี เมื่อเทียบกับเงินเยนญี่ปุ่น

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

·       Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Oil Rigs) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 พ.ค. 58 เกือบคงที่โดยลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1 แท่น มาอยู่ที่ 659 แท่น

·        กระทรวงการคลังญี่ปุ่นรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ ในเดือน เม.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.1% มาอยู่ที่ 3.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่การนำเข้าก๊าซธรรมชาติลดลงจากปีก่อน 8.5%

·       Euroilstock รายงานปริมาณการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นในยุโรป เดือน เม.ย. 58 เกือบคงที่จากเดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ 10.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.0% เนื่องจากค่าการกลั่น (Refining Margins) อยู่ในระดับสูง

·       Reuters รายงานรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐ Alberta ในแคนาดาเผยการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง Oil Sands กว่า 233,000  บาร์เรลต่อวัน หยุดดำเนินการจากผลของไฟป่าซึ่งลุกลามตั้งแต่วันศุกร์ที่ 22 พ.ค. 58 และขณะนี้ยังไม่สามารถควบคุมได้ (ค่าการกลั่นในยุโรปตะวันตก เดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ 7.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สูงกว่าเดือน เม.ย. 57 ที่ 4.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล)

·        Reuters รายงานโรงกลั่นแห่งใหม่ของซาอุดีอาระเบีย Yasref (กำลังการกลั่น 400,000  บาร์เรลต่อวัน ) ที่เมือง Yanbu ริมฝั่งทะเลแดงเริ่มกลั่นน้ำมันในปี 2557 ปัจจุบันเดินเครื่องที่ระดับ 80% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะความต้องการใช้น้ำมันเตาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 20,000  บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน จากสภาพอากาศร้อนจัดซึ่งจะทำให้ซาอุดีอาระเบียส่งออกน้ำมันดิบลดลง

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ                  

     ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงจากความกังวลของนักลงทุนว่ากรีซอาจผิดนัดชำระหนี้ซึ่ง IMF ระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่กรีซจะออกจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน แต่การกระทำดังกล่าวจะไม่ส่งผลให้ยูโรโซนต้องล่มสลายลง อีกทั้งปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC ในเดือน พ.ค. 58 ที่ประเมินจากข้อมูลการขนส่งทางเรืออยู่ที่ 31.22 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 310,000  บาร์เรลต่อวัน) และเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน ส.ค. 55 และ Goldman Sachs เห็นว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC และ Shale Oil มีเพียงพอรองรับการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลกจนถึงปี 2568 แม้จะไม่มีการเพิ่มการผลิตจากแหล่งน้ำมันดิบในทะเลลึกของ Non-OPEC และโครงการ LNG อย่างไรก็ตามรายงานแท่นผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯที่ปรับลดลงบ่งชี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯมีแนวโน้มลดลง ขณะที่รัฐมนตรีน้ำมันซาอุดีอาระเบีย นาย Ali al-Naimi เห็นว่านโยบายน้ำมันของซาอุฯ ที่มุ่งรักษาส่วนแบ่งตลาดโดยคงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในระดับสูงเพื่อให้ราคาลดลงกดดันผู้ผลิตที่ต้นทุนสูงกว่าได้ผล อีกทั้งยังมั่นใจว่าความต้องการใช้น้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ให้ติดตามการชำระหนี้ของกรีซที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจ กล่าวว่ากรีซมีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้มูลค่า 300 ล้านยูโรให้กับ IMF ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ โดยเป็นการพึ่งพาแหล่งเงินทุนภายในประเทศเหมือนที่ทำมาในอดีต ซึ่งจะช่วยยืดเวลาให้กรีซมีเวลาในการต่อรองกับกลุ่มประเทศเจ้าหนี้ต่อไปได้อีก สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent, WTI และ Dubai เคลื่อนไหวในกรอบ 62.50-66.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, 56.50-60.50  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  และ 60.50-64.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

    สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินลดลงจาก Petroleum Association Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 พ.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 230,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 11.59 ล้านบาร์เรล และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 พ.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ 1.30 ล้านบาร์เรล  อยู่ที่ 12.80 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Wood Mackenzie คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ น้ำมันเบนซินของจีนในปี 2558 จะขยายตัวจากปีก่อน  8% สำหรับช่วงปี 2559-2563 นั้นความต้องการน้ำมันเบนซิน จะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน  5.5% อีกทั้ง Abu Dhabi National Oil Co. (ADNOC) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน ปริมาณรวม 2 ล้านบาร์เรล ส่งมอบเดือน ก.ค. 58 เพิ่มเติมจากที่ซื้อในเดือน มิ.ย. 58 ปริมาณ 500,000 บาร์เรล เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทศกาลรอมฎอนสิ้นสุด (17 ก.ค.58) ขณะที่โรงกลั่นน้ำมัน Ruwais ซึ่งขยายกำลังการกลั่นเป็น 870,000  บาร์เรลต่อวัน ประสบปัญหาในการเดินเครื่อง ทำให้อัตราการกลั่นต่ำกว่า 50% ประกอบกับหน่วย Residual Fluid Catalytic Cracker (RFCC-127,000  บาร์เรลต่อวัน) ขัดข้อง สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ  81.00-85.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

     สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลลดลงจาก Reuters ประเมินว่าจีนจะส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือน พ.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน  43% มาอยู่ที่ 4.8 ล้านบาร์เรล และมีแนวโน้มส่งออกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการใช้ภายในประเทศต่ำ ประกอบกับปริมาณสำรองอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ยังเป็นช่วงห้ามทำการประมงในทะเลจีนใต้ (พ.ค.-ส.ค.) และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 พ.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 970,000 บาร์เรล อยู่ที่ 10.41 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ อีกทั้ง Reuters รายงานผู้ค้าคาดว่าซาอุดีอาระเบียจะมีปริมาณนำเข้าน้ำมันดีเซลในเดือน พ.ค. 58 ประมาณ 300,000  บาร์เรล  – 1.5  ล้านบาร์เรล ลดลงจากปีก่อนกว่า 4 ล้านบาร์เรล และในเดือน มิ.ย. 58 จะอยู่ที่ประมาณ 1.2-2.5 ล้านบาร์เรล ลดลงจากปีก่อนหน้ากว่า 6.5 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่น Yanbu (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Jubail (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) เปิดดำเนินการ  อย่างไรก็ตาม Pertamina ของอินโดนีเซียออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.35%S ปริมาณ 400,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 17-19 มิ.ย. 58 (ส่วนใหญ่ Pertamina ซื้อน้ำมันดีเซลแบบเทอมมากกว่าซื้อจากตลาดจร โดยไม่ได้ออกประมูลซื้อในตลาดจรตั้งแต่ต้นปี 2558) ประกอบกับกระทรวงการคลังเวียดนามปรับลดภาษีนำเข้าน้ำมันดีเซลลงจาก 12% เหลือ 10% ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะไม่มีกระทบต่อการนำเข้ามากนัก เนื่องจากภาษีนำเข้าจากประเทศภายในอาเซียนอยู่ที่ 5% ตาม ASEAN Trade in Goods Agreement (ATIGA ) ประกอบกับ  PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 พ.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 40,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.63 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ  74.50-78.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!