- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 02 June 2015 23:47
- Hits: 1807
ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 1-5 มิ.ย. 58 และสรุปสถานการณ์ฯ 25-29 พ.ค. 58
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 55 - 61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 62 - 68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (25 – 29 พ.ค. 58)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ยังคงเคลื่อนไหวอย่างผันผวน โดยตลาดยังคงจับตาการเจรจาแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้กรีซว่าจะเป็นไปในทิศทางใด หลังมีแนวโน้มว่ากรีซอาจไม่สามารถชำระหนี้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในงวดถัดไปได้ ซึ่งอาจจะกดดันราคาน้ำมันดิบในระยะสั้น รวมถึงการประชุมโอเปกที่จะจัดขึ้นในวันที่ 5 มิ.ย. นี้ ว่าผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปกจะมีมติปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบหรือไม่ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบอาจได้รับแรงกดดันในครึ่งหลังของปี 58 หากราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวเหนือระดับ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งอาจเพิ่มความจูงใจให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ กลับมาเพิ่มอัตราการผลิตน้ำมันดิบอีกครั้ง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ติดตามการเจรจาแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้กรีซว่าจะเป็นไปในทิศทางใด โดยล่าสุดกรีซมีนัดชำระหนี้กับ IMF งวดถัดไปกว่า 1.5 พันล้านยูโร ภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ โดยหนึ่งในจำนวนนี้ กรีซต้องชำระหนี้กว่า 300 ล้านยูโรภายในวันที่ 5 มิ.ย. อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายยังคงกังวลว่ากรีซมีแนวโน้มที่จะขาดสภาพคล่องและไม่สามารถชำระหนี้ IMF ทันกำหนด หลังจากกรีซยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับทางกลุ่มเจ้าหนี้ได้ และอาจเป็นเหตุให้กรีซไม่ได้รับเงินช่วยเหลือรอบใหม่จากยูโรโซนมูลค่าราว 7 พันล้านยูโร ภายในวันที่ 3 มิ.ย.นี้ เนื่องจากกลุ่มเจ้าหนี้ต้องการเพิ่มความเข้มงวดให้กับมาตรการรัดเข็มขัด ทั้งนี้ รัฐบาลกรีซยอมรับว่ากรีซไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระคืน โดยรัฐบาลกรีซยังคงขาดรายได้จากภาษีอากรสูงถึง 884 ล้านยูโรระหว่างเดือนม.ค.-เม.ย.
จับตาการประชุมโอเปกที่จะจัดขึ้นในวันที่ 5 มิ.ย. ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ว่าผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปกจะมีมติปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงจากโควตาการผลิตของกลุ่มที่ระดับ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบหรือไม่ หลังจากก่อนหน้านี้ กลุ่มโอเปก มีมติให้คงกำลังการผลิตไว้เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 57 ในขณะที่ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่ากลุ่มโอเปกจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ
ราคาน้ำมันดิบที่ฟื้นตัวเหนือระดับ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ อาจเพิ่มความจูงใจให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ กลับมาเพิ่มอัตราการผลิตน้ำมันดิบอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ บริษัทขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบหลายแห่งได้ชะลอการขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบลงจากภาวะราคาน้ำมันดิบตกต่ำ โดยล่าสุด Baker Huges เปิดเผยข้อมูลจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 22 พ.ค. ปรับลดลงเพียง 1 แท่น สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี ที่ 659 แท่น ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงน้อยที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การปรับลดลงของจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในอัตราที่ช้าลง อาจส่งสัญญาณว่าการลดลงของแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบอาจจะสิ้นสุดลงในเร็วๆ นี้และมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ ได้ปรับลดลงกว่าร้อยละ 60 ในเดือน มี.ค. 58 จากระดับที่สูงที่สุดในเดือน มิ.ย. 57
สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางยังคงปะทุต่อเนื่อง โดยล่าสุดรัฐบาลลิเบียได้ส่งกองกำลังทางอากาศเข้าโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันดิบบริเวณนอกเมือง นอกจากนี้ เหตุการณ์สู้รบในอิรักเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ยังสร้างความกังวลต่อตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากกลุ่มรัฐอิสสาม (IS) ได้เข้ายึดเมือง Ramadi ในจังหวัดอันบาร์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอิรัก ทำให้รัฐบาลอิรักเรียกร้องขออาสาสมัครจากกองกำลังกลุ่มนิกายชีอะห์เพื่อเข้าร่วมการยึดเมือง Ramadi กลับคืนมา ในขณะเดียวกันด้านสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาเกี่ยวกับวิธีการสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นดินในอิรัก เพื่อทำสงครามต่อต้านกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตจีน (NBS, HSBC PMI) ดัชนีภาคการผลิต (ISM PMI) รายได้นอกภาคการเกษตร และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) ดัชนีราคาผู้ผลิต-ผู้บริโภคยูโรโซน และจีดีพี 1/58 ยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 – 22 พ.ค. 58)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับขึ้น 0.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 60.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับขึ้น 0.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 65.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 61.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น แตะระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือนท่ามกลางการคาดการณ์ของตลาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายขึ้นภายในปีนี้ นอกจากนี้ยังถูกกดดันจากภาวะอุปทานล้นตลาด หลังซาอุดิอาระเบียและอิรักผลิตเดินหน้าผลิตและส่งออกน้ำมันดิบในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์