- Details
-
Category: พลังงาน
-
Published: Tuesday, 02 June 2015 14:37
-
Hits: 1834
กลุ่ม ปตท.ร่วมประชุมก๊าซฯโลก 2015 เล็งเจรจาจัดหาเชื้อเพลิง สร้างความมั่นคงพลังงานชาติ
รองรับความไม่แน่นอนจากกรณีสัมปทานปิโตรเลียม พร้อมเจรจาพันธมิตรจัดหาแอลเอ็นจีระยะสั้นและระยะยาวตามแผนบริหารพลังงาน ควบคู่แสดงนวัตกรรมกลุ่ม ปตท.สู่ชาวโลกเพื่อเปิดโอกาสขยายธุรกิจในอนาคต
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.ได้ร่วมเวทีประชุมก๊าซฯโลก 2015 หรือ World Gas Conference 2015 ระหว่างวันที่1-5 มิถุนายน 2558 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นงานประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติระดับสากล จัดโดยสมาพันธ์ก๊าซระหว่างประเทศ (International Gas Union: IGU)จัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี
ดร. ไพรินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การจัดหาแหล่งก๊าซฯใหม่ๆ ในประเทศนั้นทำได้ยากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น รวมถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง ซึ่งหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (NGV) มากขึ้น ปตท.จึงต้องเร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอเพื่อให้มั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยจะไม่สะดุดจากภาวะขาดแคลนพลังงานภายใต้สถานการณ์ที่ประเด็นสัมปทานปิโตรเลียมและแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ล้วนยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งการนำเข้าแอลเอ็นจีจึงมีส่วนสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว
จากการคาดการณ์ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยในปีนี้ จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และประมาณการณ์ว่าจะมีอัตราเติบโตของการใช้ก๊าซฯ เฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 3 - 4
สำหรับ การจัดหาก๊าซฯ ปัจจุบันประกอบด้วยการจัดหาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยการนำเข้าจากสหภาพพม่า ปตท. ได้นำเข้าแอลเอ็นจีตั้งแต่ ปี 2554 ทั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการจัดหาก๊าซธรรมชาติในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการ ขณะที่ปริมาณสำรองของแหล่งก๊าซธรรมชาติในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยในปี 2557 จัดหาก๊าซธรรมชาติรวม 4,691 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศ 3,657 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และการนำเข้า 1,034ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนการจัดหาจากแหล่งในประเทศและต่างประเทศ ร้อยละ 78:22
จากแหล่งพลังงานในประเทศที่มีจำกัด กลุ่ม ปตท. จึงใช้เวทีประชุมก๊าซฯโลก เพื่อแสวงหาโอกาสและพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อร่วมกันจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับความต้องการใช้ของไทย โดยมีเป้าหมายในการเจรจากับคู่ค้าสำคัญเพื่อวางแผนจัดหาแอลเอ็นจีในระยะยาว อาทิ การพูดคุยกับบริษัท เชฟรอน (Chevron) ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการพลังงานโลก รวมถึงการขยายความร่วมมือกับบริษัทในกลุ่มของกาตาร์ก๊าซฯ (Qatargas) ซึ่ง ปตท.เป็นพันธมิตรที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง โดยภายใต้สัญญาที่มีในปัจจุบันนั้น กาตาร์ก๊าซก็ได้ทยอยจัดส่งแอลเอ็นจีระยะยาวให้ ปตท.จำนวน 2 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ผู้บริหารระดับสูงยังได้พบปะพูดคุยเจรจาทางธุรกิจกับ บริษัท เปโตรนาส(Petronas) และ บริษัท เอ็นจี้ (Engie) ในการตกลงซื้อขายแอลเอ็นจีในอนาคต ซึ่งปัจจุบันทั้งสองบริษัทก็มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ดีต่อกันกับกลุ่ม ปตท. โดย เปโตรนาสมีบริษัทลูกที่ร่วมทุนในโครงการเจดีเอ และบริษัท เอ็นจี้ ก็ถือหุ้นร้อยละ 40 ใน บริษัท พีทีทีเอ็นจีดี ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท.
นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.ก็ยังแสวงหาพันธมิตรอื่นๆ ซึ่งอาจจะเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งด้านเชื้อเพลิงแอลเอ็นจีโดยการจัดหาแหล่งแอลเอ็นจีระยะสั้น (ซื้อ/ขายในตลาด Spot หรือซื้อ/ขายเป็นครั้งๆ) จากแหล่งต่างๆ โดยในงานครั้งนี้ ปตท.ก็จะมีโอกาสเจรจาทางธุรกิจร่วมกับ บริษัท โททาล (Total) และ บริษัท เชลล์ (Shell) อีกด้วย
นอกจากการเข้าร่วมประชุมวิชาการทาง กลุ่ม ปตท. ยังได้จัดแสดงบูธนิทรรศการเพื่อแสดงนวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. ภายใต้แนวคิด 'นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีของธุรกิจก๊าซสู่ยุคสมัยของความยั่งยืน' (Gas Innovation Technology for Sustainable Era) เพื่อแสดงถึงวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจด้วยนวัตกรรมที่สามารถลดผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดย กลุ่ม ปตท.จะมีการนำเสนอนวัตกรรมด้านธุรกิจก๊าซฯสู่สายตาชาวโลก อาทิ อุปกรณ์ควบคุมเชื้อเพลิงร่วมดีเซลและก๊าซธรรมชาติ (ECU for Diesel-CNG Engine) การนำก๊าซคาบอนไดออกไซด์เหลือทิ้งมาทำเป็นพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม และ การนำองค์ความรู้ด้านบริหารจัดการระบบท่อส่งก๊าซฯมารับจ้างบริหารหรือให้บริการครบวงจร เป็นต้น
สำหรับ งานประชุมก๊าซฯโลก 2015 มีบริษัทผู้นำด้านพลังงานกว่า 600 บริษัทใน 100 ประเทศเข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแสวงหาโอกาสในการขยายธุรกิจอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติบนพื้นที่จัดแสดงกว่า 45,000 ตารางเมตร