- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 28 May 2015 00:17
- Hits: 2130
ราคาน้ำมันดิบ ปรับตัวลดลง หลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น และความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด
-ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับตัวลดลงกว่า 3% เมื่อวานนี้ จากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตลาดยังคงกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นกว่า 1% เมื่อเทียบกับตะกร้าเงินสกุลหลัก และส่งผลกดดันให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1.09 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในรอบหนึ่งเดือน
- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ หลังจากสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนพ.ค.สู่ระดับ 95.4 หลังจากแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนในเดือนเม.ย.ที่ระดับ 94.3 รวมถึงยอดขายบ้านใหม่ที่เพิ่มขึ้น 6.8% ในเดือนเม.ย. สู่ระดับ 517,000 ยูนิต ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ เริ่มกลับมาฟื้นตัว นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันจากปัญหาหนี้กรีซ โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่ากรีซอาจจะต้องเผชิญภาวะการขาดสภาพคล่องและไม่สามารถชำระหนี้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในงวดถัดไปภายในวันที่ 5 มิ.ย นี้ได้
- Baker Hughes รายงานว่าผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ลดจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมัน (Active rigs) ลงเพียงแค่หนึ่งหลุมเท่านั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยถือว่าเป็นการปรับลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 24 สู่ระดับ 659 หลุม ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค.53 อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบในขณะนี้อยู่ในระดับที่ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันอาจจะกลับมาเพิ่มการผลิตได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ลดการผลิตลงจากการที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงก่อนหน้านี้
- ตลาดยังคงมีความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด โดยล่าสุดอิหร่านหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันโอเปกคาดว่าโอเปกจะไม่เปลี่ยนแปลงระดับเพดานการผลิตน้ำมันดิบในการประชุมกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันโอเปกในวันที่ 5 มิ.ย.ณ กรุงเวียนนา โดยการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 57 ภายใต้
การนำของซาอุดิอาระเบียมีมติให้คงกำลังการผลิตไว้เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด แม้ว่าจะมีสมาชิกบางส่วนเรียกร้องให้ลดการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบก็ตาม
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงส่วนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมนำไปใช้ในฤดูกาลถือศีลอดของชาวมุสลิมที่กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ นอกจากนี้อุปสงค์ในภูมิภาคโดยเฉพาะจากประเทศจีนก็ยังคงสนับสนุนราคาน้ำมันเบนซินอยู่อย่างต่อเนื่อง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์จากภูมิภาคตะวันออกกลางในช่วงฤดูร้อนและในช่วงก่อนฤดูถือศีลอดในดือนมิ.ย. อย่างไรก็ดี โรงกลั่นในภูมิภาคเอเชียเริ่มกลับมาดำเนินการตามปกติหลังมีการปิดซ่อมบำรุงประจำปีอาจจะส่งผลให้มีอุปทานน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นและกดดันราคาน้ำมันดีเซลได้
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 55-61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 62-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดมองว่าอุปทานน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่สี่ติดต่อกัน โดยปรับลดลงสู่ระดับ 482.2 ล้านบาร์เรล หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นหลังเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุง และส่งสัญญาณถึงอุปสงค์ที่ปรับเพิ่มขึ้นก่อนเข้าสู่ฤดูการขับขี่ฤดูร้อนของสหรัฐฯ (มิ.ย. – ส.ค.) อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่ระดับปัจจุบัน ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับระดับเฉลี่ยของปีก่อนหน้า
จับตาซาอุดิอาระเบียว่าจะยังคงเดินหน้าผลิตและส่งออกน้ำมันดิบน้ำมันดิบในระดับสูงต่อไปหรือไม่เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ โดยในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมาซาอุฯ ผลิตน้ำมันดิบแตะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 10.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่การส่งออกก็เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ที่ระดับ 7.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
การเจรจาแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้กรีซว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งจะส่งผลต่อ โดยล่าสุดกรีซได้มีการชำระหนี้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ไปแล้วส่วนหนึ่งจำนวน 750 ล้านยูโร เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี กรีซมีนัดชำระหนี้กับ IMF งวดถัดไป จำนวน 1.5 พันล้านยูโร ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ซึ่งหลายฝ่ายยังคงกังวลว่ากรีซมีแนวโน้มที่จะขาดสภาพคล่องและไม่สามารถชำระหนี้ IMF ทันกำหนด เนื่องจากในตอนนี้กรีซยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับทางกลุ่มเจ้าหนี้ได้ และอาจเป็นเหตุให้กรีซไม่ได้รับเงินช่วยเหลือรอบใหม่จากยูโรโซนมูลค่าราว 7 พันล้านยูโร ในวันที่ 3 มิ.ย.
ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อทั้งใน เยเมน อิรัก และลิเบีย เป็นต้น ยังคงสร้างความกังวลว่าจะกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบของภูมิภาคและยังคงส่งแรงหนุนต่อราคาน้ำมันดิบโลกในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี ตลาดยังเฝ้าจับตากระแสตอบรับก่อนการประชุมโอเปกที่จะจัดขึ้น ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในวันที่ 5 มิ.ย. นี้ ว่าจะมีการตัดสินใจปรับลดกำลังการผลิตเพื่อหนุนราคาน้ำมันดิบหรือไม่ หลังนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าโอเปกจะไม่ลดกำลังการผลิตลง และจะยังคงโควต้าการปลิตของกลุ่มที่ระดับ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันต่อไป