- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 24 May 2015 19:35
- Hits: 3270
เอกชนเล็งตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะ ลงทุนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
แนวหน้า : เอกชนเล็งตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะ ลงทุนในอีก2-3ปีข้างหน้า รัฐรับซื้อ 7.04 บาท/หน่วย
นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ สอท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนชน และประชาชนมีความตื่นตัวอย่างมาก หลังรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน และขยะอุตสาหกรรม โดยประกาศรับซื้อไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าจากขยะขนาด 1 เมกะวัตต์ ในราคา 7.04 บาทต่อหน่วย ส่วนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่กว่า 3 เมกะวัตต์ รับซื้อที่ 5.80 บาทต่อหน่วย สูงกว่าราคาที่รับซื้อจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขณะนี้มีเอกชนหลายรายเตรียมที่จะลงทุนแล้ว
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 150 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะเปิดรับซื้อไม่เกิน 500 เมกะวัตต์ คาดว่าการลงทุนจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 2-3 ปี ในลักษณะที่ไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าหากไม่ดำเนินการทุกอย่างให้เป็นรูปธรรม อีก 5 ปีนับจากนี้ ปริมาณขยะในประเทศไทยที่ 24 ล้านตันต่อปี อาจไม่เพียงพอต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากต้องใช้ขยะถึง 100 ตันต่อการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ หรือใช้ขยะประมาณ 1 แสนตันต่อโรงต่อปี
นายพิชัย กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลควรให้การสนับสนุนคือ เร่งก่อสร้างระบบสายส่งในพื้นที่ต่างๆ เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าจากขยะที่จะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในแต่ละภูมิภาค รวมถึงต้องการให้รัฐบาลแบ่งแยกประเภทขยะให้ชัดเจน ว่าชนิดใดสามารถนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้
"กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน คาดว่าหากรัฐช่วยปรับลดกฎระเบียบหรือเร่งรัดการขออนุญาตในโครงการพลังงานขยะแล้ว ภายในปี 2559 จะมีการลงทุนไม่น้อยกว่า 15 โครงการ ตามที่กรมควบคุมมลพิษตั้งเป้าหมายไว้ โดยภาครัฐไม่ต้องของบประมาณในการสนับสนุนใดๆเลย"นายพิชัย กล่าว
นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทเตรียมเม็ดเงินลงทุน 1,468 ล้านบาท ดำเนินโครงการแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าโครงการแรกในพื้นที่ภาคเหนือ กำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ โดยจะลงนามสัญญารับจ้างกำจัดขยะจากเทศบาลภายในเดือนก.ค.2558 นี้ พร้อมระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีระบบกำจัดขยะเกือบครบถ้วนที่สุดหากเทียบกับประเทศอื่น ขาดเพียงโรงไฟฟ้าจากขยะเท่านั้น ซึ่งหากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นได้เท่ากับว่าไทยจะมีกระบวนการกำจัดขยะครบวงจร
ส.อ.ท.เผยเอกชนพร้อมลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ 5 ปีรวม 500 MW มูลค่า 7.5 หมื่นลบ.
นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทสไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะของภคเอกชนปัจจุบันมีความพร้อมในการลงทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งได้มีการตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะรวมตามแผน 5 ปี (58-62) อยู่ที่ 500 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนรวมอยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลงทุนในช่วงปี 58-59 จำนวน 300 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนรวม 4.5 หมื่นล้านบาท และในช่วงปี 60-62 อีก 200 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนรวม 3 หมื่นล้านบาท
โดยปัจจุบันในประเทศไทยมีปริมาณขยะอยู่ที่ 24 ล้านตัน/ปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในอนาคตจะมีขยะอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาเป็นจำนวนมาก โดยคาดการณ์ว่าอาจจะใกล้เคียงกับปริมาณขยะชุมชน ซึ่งปริมาณขยะทั้งขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมดังกล่าวนั้นจะสามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าได้ตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ตามการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะนั้นมีการลงทุนที่สูง โดยมีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 150 ล้านบาท/เมกะวัตต์ และใช้เวลาที่ค่อนข้างยาวนาน ทั้งการก่อสร้างโรงงานคัดแยกขยะและโรงงานผลิตไฟฟ้า การทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมกับชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง และการได้รับอนุญาตจากภาครัฐในการลงทุนโครงการ โดยใช้เวลาทั้งสิ้นรวม 3.5-5 ปี ถึงจะสามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้
นอกจากนี้ ยังจะขอให้ภาครัฐสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอย่างต่อเนื่อง และอยากให้มีการสนับสนุนและช่วยในการปรับลดกฎระเบียบหรือเร่งรัดการขออนุญาตในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะให้มีความรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าภายในปี 59 จะมีการลงทุนโรงไฟฟ้าลังงานขยะไม่น้อยกว่า 15 โครงการ อีกทั้งยังจะช่วยให้สามารถกำจัดขยะในประเทศได้ปีละ 3 ล้านตัน พร้อมกำจัดบ่อฝั่งกลบได้อีกปีละ 1 ล้านตันด้วย
ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 (PDP 2015) ซึ่งจะมีแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP)รวมถึงแผนอนุรักษ์พลังงาน(EEDP) ควบคู่กันไปด้วย โดยตลอดแผน AEDP ได้กำหนดสัดส่วน 20% ของการใช้พลังงานทั้งหมดหรือมีกำลังผลิตรวม 19,685 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้จะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ราว 500 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีการผลิตอยู่ราว 48 เมกะวัตต์ ซึ่งภาครัฐจะให้ความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากขยะเป็นอันดับแรก
โดยผู้ประกอบการสามารถมายื่นขอรับการส่งเสริมได้เลย ซึ่งคาดว่าจะเปิดรับซื้อได้หลังจากสามารถเคลียร์โครงการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าค้างท่อแล้วเสร็จทั้งหมด ซึ่งล่าสุดในส่วนของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม)ค้างท่อที่เหลือเคลียร์ได้ทั้งหมดแล้วรวมกว่า 900 เมกะวัตต์ และจะทำให้สามารถรู้ถึงศักยภาพสายส่งของประเทศว่าจะมีเพียงพอรองรับโครงการซื้อไฟฟ้าใหม่ๆของภาครัฐ
อินโฟเควสท์