- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 17 June 2014 21:57
- Hits: 3447
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นเนื่องจากความกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบ จากเหตุการณ์สถานการณ์ไม่สงบในอิรัก
+ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือน ส.ค.ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ไม่สงบในอิรัก ซึ่งเกิดจากการบุกยึดครองดินแดนของกองกำลังติดอาวุธ ISIL ในช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันอิรักก็ได้ส่งกองกำลังเพิ่มเติมเพื่อป้องกันแหล่งพลังงานจากกองกำลังติดอาวุธเช่นกัน โดยส่งผลให้นักลงทุนยังคงมีความกังวลต่อปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิรัก ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) มีปริมาณลดลง
- ดัชนีราคาผู้บริโภคยุโรปเดือน พ.ค. ปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.5% มาอยู่ที่ระดับ 0.4% ซึ่งลดลงจากเดือน เม.ย. ที่ระดับ 0.5%
+ ดัชนีภาคอุตสาหกรรมของรัฐนิวยอร์คเดือน มิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 เดือนติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 19.3% ซึ่งมากกว่าเดือน พ.ค. ที่ระดับ 19.0% ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นครั้งนี้สร้างความประหลาดใจให้กับนักวิเคราะห์เป็นอย่างมาก เนื่องจากนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขจะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 15.0% จากตัวเลขที่ประกาศออกมานั้น สะท้อนถึงการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมของนิวยอร์คเพิ่มมากขึ้น
+ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.6% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. ที่ระดับ -0.6% โดยการปรับเพิ่มขึ้นนี้ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.5% ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกที่ดีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ว่าจะมีอุปทานเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่โรงกลั่นต่างๆ กลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้งจากการปิดซ่อมบำรุงในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากตลาดยังคงมีความต้องการน้ำมันดีเซลน้อยกว่ากำลังการผลิต ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในช่วงหน้าร้อนยังคงซบเซา แต่อย่างไรก็ตามโรงกลั่นที่เกาหลีและญี่ปุ่นได้เริ่มลดกำลังการผลิตลง ซึ่งน่าจะช่วยให้มีความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานมากยิ่งขึ้น
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 102-109 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 108-115 เหรียญฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
เหตุการณ์สู้รบในอิรักที่เพิ่มความรุนแรงส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งน้ำมันทางท่อ Kirkuk ทางตอนเหนือของประเทศ รวมถึงส่งผลให้โรงกลั่นใหญ่ที่มีกำลังผลิต 310,000 บาร์เรลต่อวันต้องลดกำลังการผลิตลง
รัฐบาลลิเบียคาดว่าจะยังคงไม่สามารถเจรจากับกลุ่มผู้ประท้วงเพื่อขอเปิดใช้ท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบได้เพิ่มเติม แม้จะมีความพยายามหลายครั้ง โดยการส่งออกน้ำมันดิบล่าสุดยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 200,000 บาร์เรลต่อวัน
การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในวันที่ 17-18 มิ.ย. นี้ ตลาดคาดว่าทางธนาคารกลางฯ จะยังคงตัดสินใจลดวงเงินเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลลงต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากตลาดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น
การเจรจาระหว่างประธานาธิบดีรัสเซียกับประธานาธิบดียูเครน เพื่อร่วมมือกันขจัดปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นทางตะวันออกของยูเครนระหว่างรัฐบาลยูเครนและกองกำลังติดอาวุธฝักใฝ่รัสเซียที่กำลังทวีความรุนแรงอยู่ในขณะนี้ มีแนวโน้มจะป็นไปได้ด้วยดี