- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 19 May 2015 09:33
- Hits: 2446
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 11-15 พ.ค. 58 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 18-22 พ.ค. 58 โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สัปดาห์ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.11เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 66.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 84.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Reuters รายงาน OPEC ผลิตน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 58 สูงขึ้นจากเดือนก่อน 20,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 30.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากซาอุดีอาระเบีย อิรัก และอิหร่านผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งหากยึดการผลิตของ OPEC ที่ระดับนี้ตลอดทั้งปี 2558 Reuters ประเมินว่าอุปทานจะล้นตลาดปริมาณ 1.52 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้านซาอุฯ ในทางปฏิบัติ นอกจากจะผลิตน้ำมันดิบในระดับสูงต่อเนื่อง ยังส่งสัญญาณให้ตลาดเป็นระยะว่าจะผลิตเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
· Euroilstock รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบและ Feedstock ในยุโรป 16 ประเทศ ในเดือนเม.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 479.9 ล้านบาร์เรล
· Goldman Sachs แสดงทัศนะว่าราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นในระยะนี้คล้ายสภาวะ ‘อิ่มตัวเร็วกว่ากำหนด’ กล่าวคือราคาเพิ่มขึ้นรุนแรงและรวดเร็วเกินกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบ โดยเฉพาะ Shale Oil ในสหรัฐฯ อาจไม่ลดลงไปตามครรลอง และจะทำให้ราคาลดลงในลำดับต่อมา
· กรมศุลกากรจีนรายงานการส่งออกของจีนในเดือน เม.ย. 58 ปรับตัวลดลง 6.2% ขณะที่การนำเข้าลดลง 16.1% เมื่อเทียบรายปี บ่งชี้ว่าจีนกำลังเผชิญกับอุปสรรคทั้งอุปสงค์ภายในและนอกประเทศที่อ่อนแอ ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 มีแนวโน้มอ่อนแรง
· กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ รายงานยอดสินค้าขายปลีก (Retail Sales) เดือน เม.ย. 58 คงที่ สวนทางกับผลสำรวจนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือน มี.ค. 58 บ่งชี้ความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง หลังจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2558 ชะลอตัว
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นผลิตน้ำมันดิบ จำนวน 11 แท่น หยุดดำเนินการรอบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ค. 58 ทำให้จำนวนแท่นผลิตน้ำมันที่ยังดำเนินการอยู่ในสหรัฐฯ ลดลงสู่ 668 แท่น ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 22 แต่ลดลงในอัตราที่ต่ำลง อย่างไรก็ตามผู้ผลิต Shale oil ที่ Permian Basin เดินเครื่องแท่นขุดเจาะเพิ่มขึ้น 3 แท่น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน ธ.ค. 57 ที่ผู้ผลิตหันกลับมาเดินเครื่องแท่นผลิตอีกครั้งตามราคาน้ำมันดิบที่แข็งแกร่งขึ้น
· EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ค. 58 ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.2 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 484.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2
· กรมศุลากรจีนรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบของประเทศเดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ 7.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.6% จากการเก็บสำรองน้ำมันของโรงกลั่นที่มีความต้องการมากขึ้น รวมทั้งการเก็บสำรองน้ำมันดิบทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve)
· Platts รายงานอินเดียนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.4% มาอยู่ที่ 3.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยนำเข้าจากซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20% อยู่ที่ 909,000 บาร์เรลต่อวัน
· ICE รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 พ.ค. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ก่อน 11,839 สัญญา มาอยู่ที่ 288,727 สัญญา ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 7 และเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในปี 2554
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ตลาดน้ำมันดิบบังคงผันผวน และเปลี่ยนแปลงรายวันโดยราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ปิดตลาดเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้วยอานิสงส์จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆของโลก หลังตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่เป็นที่น่าพอใจ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลง เนื่องจากนักลงทุนเริ่มกังวลต่อการกลับมาของผู้ผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ ล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมาแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Oil Rig) เริ่มกลับมาดำเนินการผลิต ส่งผลให้โดยรวมแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ลดลงจากสัปดาห์ก่อนเพียง 8 แท่น เป็นอัตราการลดลงที่ต่ำที่สุด นอกจากนั้นผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ WPX Energy Inc. เผยว่าบริษัทพร้อมที่จะเพิ่มแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในรัฐ North Dakota หากราคาน้ำมันดิบ WTI เสถียรอยู่ที่ระดับ 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อนึ่งถึงแม้ WPX Energy จะมีการปลดพนักงานถึง 8% ตั้งแต่ต้นปี แต่ส่วนใหญ่เป็นพนักงานทั่วไป ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะว่าจ้างวิศวกรและนักธรณีวิทยาอีก 40-50 อัตรา เพื่อรองรับแผนการผลิตในอนาคต ทางด้านการเจรจาการปลดหนี้ของกรีซ ล่าสุด นาย Sigmar Gabriel รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนี กล่าวว่าเยอรมนีจะไม่ให้เงินช่วยเหลือก้อนที่ 3 หากรัฐบาลกรีซยังคงไม่ปรับลดค่าใช้จ่ายในด้านเงินบำนาญ และจัดให้มีการปฎิรูปตลาดแรงงาน ซึ่งรัฐบาลกรีซยังคงปฎิเสธที่จะดำเนินการดังกล่าว ทางด้านเทคนิค ในสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 58-62เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ ดูไบ จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้นจาก Platts รายงาน อุปสงค์น้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นจากการเก็บสำรองก่อนเทศกาลรอมฎอนของประเทศมุสลิม (18 มิ.ย.-17 ก.ค. 58) และฤดูขับขี่ท่องเที่ยวในสหรัฐฯ หรือ Driving Season (25 พ.ค.-7 ก.ย. 58) ที่คาดว่าปีนี้จะมีความต้องการน้ำมันเบนซินสูงกว่าปีก่อน ประมาณ 300,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ Platts รายงาน โรงกลั่นน้ำมัน Maoming (กำลังการกลั่น 470,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัทน้ำมันแห่งชาติของจีน Sinopec มีแผนส่งออกน้ำมันเบนซิน ในเดือน พ.ค. 58 เพียง 170,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อน 29% เนื่องจากความต้องการใช้ภายในประเทศสูงขึ้น และ โรงกลั่น Lytton (กำลังการกลั่น 109,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Caltex ในออสเตรเลียเริ่มปิดเพื่อซ่อมบำรุงประจำปี ซึ่งจะใช้เวลา 7 สัปดาห์และจะสามารถกลับมาดำเนินการได้ประมาณสิ้นเดือน มิ.ย. 58 อย่างไรก็ตาม Platts รายงาน China National Offshore Oil Corp. (CNOOC) คาดว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินจากโรงกลั่น Huizhou (240,000 บาร์เรลต่อวัน) ใน เดือน พ.ค. 58 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 42,500 บาร์เรล มาอยู่ที่ 127,500 บาร์เรล และ Sinopec คาดว่าจะส่งออกน้ำมันเบนซิน จากโรงกลั่น Guangzhou (กำลังการกลั่น 264,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Hainan (กำลังการกลั่น 160,000 บาร์เรลต่อวัน) เพิ่มขึ้น จากเดือนก่อน 59,500 บาร์เรล มาอยู่ที่ 595,000 บาร์เรล ขณะที่ Petroleum Association of Japan (PAJ) ของญี่ปุ่นรายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 พ.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 24,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 12.7 ล้านบาร์เรล
สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 79.5-84.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจาก Saudi Aramco จะนำเข้าน้ำมันดีเซล 0.5%S ในเดือน พ.ค. 58 ปริมาณ 1.7 ล้านบาร์เรล เพื่อรองรับความต้องการใช้ผลิตไฟฟ้าในฤดูร้อน ซึ่งอุณหภูมิสูงแตะ 50 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ โรงกลั่นน้ำมันที่เปิดใหม่ในซาอุดีอาระเบียอาทิ Yanbu (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ Yasref และ Jubail (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ SATORP เน้นผลิต Gasoil 0.01%S ซึ่งส่งออกได้ราคาดี แล้วนำเข้าน้ำมันดีเซล 0.5%S ซึ่งราคาต่ำกว่า ส่วน Pakistan State Oil Company (PSO) นำเข้าน้ำมันดีเซลจากตลาดจร เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในฤดูร้อนพุ่งสูงขึ้นจนปริมาณที่นำเข้าแบบเทอมไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ปัจจุบัน เมืองใหญ่ในปากีสถานอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 40 องศาเซลเซียส อีกทั้ง โรงกลั่น Maoming ของ Sinopec ในจีนมีแผนจะปิดดำเนินการหน่วย CDU No.3 (กำลังการกลั่น 50,000 บาร์เรลต่อวัน) ในวันที่ 22 พ.ค. 58 และคาดว่าจะใช้เวลาซ่อมบำรุงเป็นเวลา 1 เดือน และ โรงกลั่น Chiba (กำลังการกลั่น 220,000 บาร์เรลต่อวัน) ของญี่ปุ่นมีแผนจะปิดหน่วย CDU No.2 (กำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรลต่อวัน) ในวันที่ 2 พ.ค. 58 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะใช้ว่า 45 – 60 วัน อย่างไรก็ตาม Reuters คาดว่าปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลของจีนในเดือน พ.ค. 58 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ากว่า 2 เท่า มาอยู่ที่ 4.84 ล้านบาร์เรล เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอ อาทิ Sinopec ของจีนมีแผนส่งออกน้ำมันดีเซล เดือน พ.ค. 58 ปริมาณ 650,000 บาร์เรล หลังจากไม่ได้ส่งออกตั้งแต่เดือน ก.พ. 2558 และปริมาณสำรองที่ยังคงอยู่ในระดับสูงสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75.15-80.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล