- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 17 May 2015 10:31
- Hits: 2369
จี้รัฐสรุปสัมปทานปิโตรเลียมหวั่นผลิตไม่ต่อเนื่องต้องนำเข้าแอลเอ็นจีดันค่าเอฟทีพุ่ง 90 สต.
ไทยโพสต์ วิภาวดีรังสิต * ปิยสวัสดิ์’ แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน เตือนรัฐบาลเร่งสร้างความชัดเจน สัมปทานปิโตรเลียม ปตท.สผ. และเชฟรอนจะหมดอายุในปี 2565 หวั่นหากการผลิตไม่ต่อเนื่องต้องนำเข้าแอลเอ็นจีจากต่างประเทศ กระทบค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 1 บาท ภาคอุตสาหกรรมไร้ขีดความสามารถในการแข่งขัน
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลัง งานเพื่อความยั่งยืน (อีอาร์เอส) เปิดเผยว่า มีความเป็นห่วงเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุลงในปี 2565-2566 ซึ่งได้แก่ แหล่งเอราวัณ ในอ่าวไทย ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และแหล่งบงกช ในอ่าวไทย ของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติสูงถึง 50% ของปริมาณการใช้ทั้งประเทศ
ดังนั้น หากรัฐบาลไม่รีบ ตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร กับแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุ จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของเอกชน และ ทำให้การผลิตปิโตรเลียมไม่ต่อเนื่อง หรือรักษาระดับการผลิตให้คงที่เท่าปัจจุบันไม่ได้ จะมีผลเสียต่อไทย ต้องแก้ปัญหา ด้วยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากต่างประ เทศมาใช้ทดแทนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีราคาแพงกว่าก๊าซจากอ่าวไทย
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า อีอาร์เอสได้ประเมินว่า หากไม่มีการลงทุนในช่วง 5 ปีก่อนหมดอายุสัมปทาน ประเทศไทยจะสูญเสียการผลิตก๊าซโดยรวม 2.3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต จากปัจจุบันไทยผลิตก๊าซได้ประมาณกว่า 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และต้องนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศทดแทน ซึ่งมีผลให้สูญเสียรายได้จากค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมกว่า 3.5 แสนล้านบาท รวมทั้งเกิดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการนำเข้าแอลเอ็นจีและวัตถุดิบปิโตรเคมีกว่า 3.5 แสนล้านบาท และค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นถึง 90 สตางค์ต่อหน่วย
อย่างไรก็ตาม หากค่าไฟฟ้าพุ่งสูงตามการคาดการณ์ดังกล่าว อุตสาหกรรมไทยจะไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เนื่องจากเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่เทียบเท่ากับประเทศญี่ปุ่น แต่เมื่อพิจารณาสินค้าไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าญี่ปุ่นได้
"รัฐบาลต้องรีบตัดสินใจให้เสร็จภายในปี 2558 นี้ และควรเริ่มลงนามในปี 2559 ทันที เนื่องจากเชื่อว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันไม่สามารถอยู่ได้ตลอดไป หากเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่จะขาดอำนาจการตัดสินใจที่เด็ดขาด ดังนั้น ไม่เพียงแค่สัมปทานที่จะหมดอายุเท่านั้น การสำรวจปิโตรเลียมรอบ 21 ก็ควรให้เสร็จโดยเร็วเช่นกัน อย่ามัวเสียเวลาถกเถียงกันเรื่องระบบแบ่งปันผลประโยชน์กันอยู่เลย จะต้องรีบปลดล็อกแล้วเดินหน้าเรื่องโดยเร็ว เพื่อรักษาระดับผลิตปิโตรเลียมในประเทศให้มีใช้อย่างต่อเนื่อง" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ในอนาคตไทยควรตั้งสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานขึ้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลส่วนกลางที่น่าเชื่อถือ แก้ปัญหาความไม่เชื่อถือข้อมูลกระทรวงพลัง งานได้ รวมทั้งไทยควรเข้าเป็นสมาชิกองค์กรความโปร่งใสทรัพยากรใต้ดิน (อีไอทีไอ) ซึ่งเป็นองค์กรสากลที่สามารถช่วยตรวจสอบความถูกต้อง ของข้อมูลและการนำทรัพยากรปิโตรเลียมไปใช้ว่าโปร่งใสเพียงใดด้วย เพื่อลดข้อครหาว่ามีการลักลอบนำน้ำมันไป ใช้ในช่วงการผลิตปิโตรเลียมด้วย.