- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 07 May 2015 21:27
- Hits: 1905
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม จากเหตุประท้วงปิดท่อส่งน้ำมันดิบในลิเบีย และการปรับลดของน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ
+ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสเท็กซัสต์เคลื่อนไหวแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน และเป็นระดับราคาสูงสุดในปี 2558 ที่ 68.40 และ 61.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ก่อนที่จะปรับตัวลดลงมาปิดที่ 67.52 และ 60.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบารร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากตลาดมีความกังวลด้านอุปทานน้ำมันดิบสำหรับการส่งออกของลิเบียที่อาจตึงตัว หลังกลุ่มผู้ประท้วงได้ทำการปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบ ซึ่งทำให้การดำเนินงานบริเวณท่าเรือ Zueitina ต้องหยุดชะงักลง ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับตัวมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 500,000 บาร์เรลต่อวัน
+ สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 พ.ค. 58 ปรับตัวลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 483.9 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล ส่วนปริมาณนั้มนดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบโอกลาโอมาปรับลดลง 0.3 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่ปรับตัวลดลงดังกล่าวมีสาเหตุหลักจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง
+ ซาอุดิอาระเบีย ผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ในกลุ่มโอเปก ปรับเพิ่มราคาขายน้ำมันดิบกลุ่ม Arab Light ที่มีการส่งออกไปยังทางตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรป เพื่อเป็นการปรับราคาขายให้สะท้อนสภาวะตลาดเมื่อเทียบกับราคาของน้ำมันชนิดอื่นๆ ในภูมิภาคมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาของ Arab Light ที่มีการส่งออกมายังภูมิภาคเอเชียยังคงอยู่ ณ ระดับเดิม เพื่อเป็นการรักษาและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคเอเชียให้มากขึ้น
+ ดัชนีชี้วัดภาคการบริการสหรัฐฯ (ISM Non-Mfg Index) ประจำเดือน เม.ย. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57.8 จุด สวนทางกับที่คาดว่าจะอยู่ในระดับคงที่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 50 จุด นับเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงสภาวะเศรษฐกิจภาคบริการสหรัฐฯ ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตลาดเริ่มคลายความกังวลด้านสภาวะอุปทานตึงตัว ประกอบกับผู้ผลิตในภูมิภาคเอเชียขาดโอกาสในการส่งออกน้ำมันเบนซินไปยังสหรัฐฯ นอกจากนั้น ราคาน้ำมันเบนซินที่ปรับลดลงดังกล่าวยังเป็นผลสืบเนื่องจากแรงกดดันของราคาน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ ที่ลดลง
ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ จากแรงกดดันของอุปทานที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคกลับมาดำเนินการตามปกติหลังจากการปิดซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงในกรอบที่จำกัดจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากแอฟริกา
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 55-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 62-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ตลาดมีความกังวลด้านอุปทาน หลังการสู้รบในเยเมนยังคงยืดเยื้อ โดยล่าสุด ซาอุดิอาระเบียยังคงโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มกบฏฮูธิ (Houthi) ในเยเมนทางด้านตอนกลางและใต้ของประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าปัญหาอาจจะบานปลายและส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันดิบในภูมิภาค ถึงแม้ว่าเยเมนจะเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายเล็ก โดยผลิตได้เพียง 90,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค. 58 ซึ่งน้อยกว่า 1% ของปริมาณการผลิตทั่วโลก แต่มีชายฝั่งด้านหนึ่งติดกับช่องแคบบับเอลมันเดบ (Bab el-Mandeb) ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ใช้เป็นเส้นทางในการขนส่งน้ำมันผ่านคลองสุเอซ (Suez Canal) ซึ่งเชื่อมระหว่างทะเลแดง (Red Sea) กับอ่าวเอเดน (Gulf of Aden) ซึ่งความขัดแย้งในภูมิภาคครั้งนี้ อาจเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งน้ำมันดิบราว 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมถึงกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบในซาอุดิอาระเบีย และภูมิภาคตะวันออกกลางได้
อุปทานน้ำมันดิบจากผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด นายอาลี อัล-ไนมี รมว.กระทรวงน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย แสดงความเห็นว่าอุปสงค์น้ำมันดิบในเอเชียยังคงมีความแข็งแกร่ง และซาอุดิอาระเบียพร้อมที่จะส่งออกน้ำมันดิบเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาซาอุดิอาระเบียผลิตน้ำมันดิบแตะระดับ 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ ทำลายสถิติก่อนหน้านี้ที่ 10.2 ล้านบาร์เรลเมื่อเดือน ส.ค. 56
การชะลอแผนการลงทุนขุดเจาะและผลิตน้ำมันในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง หลังจากปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมา
ติดตามทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลังคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลงมติในการประชุมเมื่อวันที่ 28-29 เม.ย. ให้คงอัตราดอกเบี้ยในช่วงร้อยละ 0-0.25 ต่อไป ในขณะที่ Fed ยังไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับกำหนดการในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ Fed ได้ระบุว่าการชะลอตัวของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 1/58 เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจชั่วคราว โดย Fed มีแนวโน้มที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาในการสร้างความมั่นใจต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
อุปสงค์น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 2 นี้ หลังโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ โดยล่าสุดมีการคาดการณ์ว่าหน่วยการกลั่นน้ำมันดิบ (Crude Distillation Units) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกราว 2 ล้านบาร์เรลจะถูกปิดซ่อมบำรุงในช่วงไตรมาส 2 นี้