- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 02 May 2015 08:03
- Hits: 2892
กฟผ.ตั้งงบลงทุน 5 ปี ราว 6 แสนลบ.สร้างโรงไฟฟ้า-เชื่อมระบบส่งในอาเซียน
นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า แผนลงทุน 5 ปี (58-62) คาดว่า จะอยู่ที่ประมาณ 6 แสนล้านบาท เพื่อใช้สำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้า และด้านระบบส่ง ซึ่ง กฟผ.ได้มีการปรับปรุงและขยายระบบส่งเพื่อรองรับโรงไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นใหม่ รวมถึงการเชื่อมโยงระบบส่งในอาเซียนเข้าด้วยกัน โดยในส่วนนี้คาดว่าจะใช้งบลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท
สำหรับ การดำเนินงานในอนาคต กฟผ. เดินหน้าสู่เป้าหมายองค์กรระดับโลก (Global Top Quartile Utility) โดยมียุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ 1) การปรับปรุงความสามารถด้านการผลิตและส่งไฟฟ้า กฟผ. ได้เพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าให้เทียบเท่าโรงไฟฟ้าระดับโลก โดยใช้กระบวนการ Best Practice เพื่อให้การดำเนินงานแต่ละขั้นตอนมีความสูญเสียน้อยที่สุด และมีความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้าสูงสุดสามารถเทียบเคียงกับโรงไฟฟ้าในยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้ ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการในโรงไฟฟ้า 4 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครเหนือ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกง โรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ และเขื่อนวชิราลงกรณ ในส่วนของการขยายและปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าได้นำกระบวนการ Lean Construction ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้ กฟผ.สามารถก่อสร้างโครงการให้เร็วขึ้นและประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง เพื่อรองรับการขยายตัวของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
2) การขยายงานด้านธุรกิจต่อเนื่องร่วมกับบริษัทในเครือ กฟผ. ได้มองถึงธุรกิจใหม่เพื่อสร้างรายได้ให้รัฐ เช่น ธุรกิจด้านไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน ธุรกิจต้นน้ำด้านการจัดหาเชื้อเพลิง เช่น การนำเข้า LNG จากต่างประเทศ เป็นต้น
3) การนำความรู้ความเชี่ยวชาญในกิจการไฟฟ้าเพื่อสร้างประโยชน์แก่สังคม โดยกำลังก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ขึ้นในภูมิภาคต่างๆ มีศูนย์หลักอยู่ที่สำนักงานใหญ่ กฟผ. ซึ่งอยู่ระหว่างกำลังดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2560 ศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นจะเสนอความรู้ด้านการผลิตไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง พร้อมทั้งนำเสนอนวัตกรรมที่โดดเด่นที่ กฟผ. คิดค้นขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม และความรู้ด้านกิจการไฟฟ้าของอาเซียน โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งนักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้จากศูนย์การเรียนรู้นี้ และ4) การพัฒนาศักยภาพบุคคลากร รุ่นใหม่ กฟผ. เพื่อสร้างผู้นำในอนาคต
ส่วนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี 2015) มีการปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงถ่านหินเพิ่มขึ้น ซึ่ง กฟผ. มีการเตรียมพร้อม ด้วยการเร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่อยู่ในแผนเบื้องต้น อาทิ โรงไฟฟ้าทดแทนแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2561 โรงไฟฟ้ากระบี่ กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2562 โรงไฟฟ้าเทพา 1 กำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์. จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนเมษายน ปี 64 และโรงไฟฟ้าเทพา2 กำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้เดือนมการาคมปี 67
อนึ่ง ในปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ดำเนินการตามเป้าหมายในเรื่องการพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ มีความคืบหน้าตามลำดับ คือ สามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 4-7 กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ โดยทำพิธีลงเสาเอกต้นแรกเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2561 โรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าบางปะกง 1-2 กำลังผลิต 1,300 เมกะวัตต์ โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ และโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ได้จัดรับฟังความคิดเห็นรายงานการประเมินผลกระทบผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณา โรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ 1-5 กำลังผลิต 1,300 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำหรับ โครงการโรงไฟฟ้าเทพา กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการเตรียมจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 (ค.3) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็นต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพรวมทั้งมาตรการป้องกันแก้ไขประมาณเดือนกรกฎาคม 2558
นอกจากนี้ กฟผ. ได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาระบบส่งเพื่อรองรับการเติบโตของโรงไฟฟ้าใหม่และพลังงานทดแทน และระบบส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid - APG) ซึ่งเป็นโครงการสำคัญรองรับการพัฒนาพลังงานร่วมกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเกิดขึ้นในปลายปี 2558
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 เป็นต้นมา สถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ส่งผลให้สามารถปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2558 จาก 69 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ 58.96 สตางค์ต่อหน่วย ลดลง 10.04 สตางค์ ถือเป็นการปรับลดค่า Ft ลงมากที่สุดในรอบ 14 ปี
อินโฟเควสท์
กฟผ.ลดเงินส่งเข้าคลัง อ้าง 5 ปีต้องลงทุน 4-5 แสนล.
แนวหน้า : นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เปิดเผยว่าทางกระทรวงการคลังหารือกับ กฟผ. เพื่อขอให้พิจารณานำเงินส่งคลังเพิ่มขึ้น เพราะในขณะนี้ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์กระทบรายได้ของรัฐ โดย ในส่วนของ กฟผ.หากจะส่งเพิ่มคงจะไม่เกิน 5-6 พันล้านบาท จากปกติมีการนำเงินส่งรัฐ 45% ของผลกำไร หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท/ปี
“การที่ไม่สามารถส่งเงินรัฐได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องมีการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงไฟฟ้าทั้งสายส่งและโรงไฟฟ้าใหม่ โดยใน 5 ปีข้างหน้า มีเงิน ลงทุนราว 4-5 แสนล้านบาท” นายสุนชัย กล่าว
สำหรับ แผน 5 ปี (2558-2562) ที่มีเงินลงทุน 4-5 แสนล้านบาท ประกอบไปด้วยการลงทุนด้านสายส่ง 2 แสนล้านบาท ซึ่งมีทั้งการลงทุนปรับปรุงสายส่งทดแทนระบบเก่า ที่มีอายุ 30-40 ปี โครงการสายส่ง 500 เควีเสริมจากภาคกลางไปภาคใต้ โครงการสร้างสายส่งเพิ่มเติมในภาคอีสานไปภาคตะวันออกกลาง เพื่อรองรับไฟฟ้าจาก สปป.ลาวและพลังงานทดแทน โครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้ากระบี่และโรงไฟฟ้าเทพา 1 วงเงิน 140,000 ล้านบาท, โครงการโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ 1,300 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าบางปะกง 1,300 เมกะวัตต์ ลงทุนโรงละ 35,000 ล้านบาท
ส่วนการที่ กฟผ.กำลังจะออกกองทุนสาธารณูปโภค ขนาดของทุน 20,000 ล้านบาท เป็นส่วนของ กฟผ. 25% หรือ 5,000 ล้านบาท โดยใช้ชื่อกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 กฟผ. (EGAT IF)ใช้โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 1 เป็นทรัพย์สินในการระดมทุน อายุ 20 ปี ซึ่ง คาดผลตอบแทนจะมากกว่าร้อยละ 5 หรือสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปีที่อัตราร้อยละ 4-5 โดยเม็ดเงินจากการระดมทุนนี้จะลงทุนในการพัฒนาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และโครงการขยายระบบส่งของ กฟผ. ปี 2558-2559โดย กฟผ.จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนปี 2558 กว่า 40,000 ล้านบาท
ส่วนกรณีการหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา สหภาพเมียนมาร์ในวันที่ 10-19 เมษายน 2558 เพื่อทำงานซ่อมฐานรากของแท่นผลิตที่ทรุดตัวทำให้ก๊าซฯที่ส่งให้หายไปทั้งหมดวันละประมาณ 980 ล้าน ลบ.ฟุตคิดเป็นกำลังผลิตประมาณ 5,700 เมกะวัตต์ และกรณีการหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งซอติก้า สหภาพเมียนมาร์ ในวันที่ 20-27 เมษายน 2558 เพื่อหยุดทำงานตรวจสอบอุปกรณ์ และซ่อมบำรุงอุปกรณ์เพิ่มความดัน โดยลดการจ่ายก๊าซธรรมชาติ สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากปกติวันละประมาณ 980 ล้าน ลบ.ฟุตเหลือ 420 ล้าน ลบ.ฟุต คิดเป็นกำลังผลิตลดลงประมาณ 3,300 เมกะวัตต์
สำหรับ ก๊าซธรรมชาติที่หายไปได้ส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าในฝั่งภาคตะวันตกทั้งหมด โดยในช่วงที่มีการหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติดังกล่าวความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือ Peak อยู่ที่ 27,139 เมกะวัตต์ ซึ่ง กฟผ. ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้ 3 ส่วนหลัก ทั้งด้านระบบผลิต ด้านระบบส่ง และด้านเชื้อเพลิงทดแทน โดยมีการใช้น้ำมันเตาประมาณ 112 ล้านลิตร ต่ำกว่าแผน 32 ล้านลิตร ใช้น้ำมันดีเซล 13 ล้านลิตร ต่ำกว่าแผน 31 ล้านลิตร รวมถึงการเปิด War room 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมพร้อมกรณีเกิดวิกฤตินั้น ปรากฏว่า 18 วัน ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 10-27 เมษายน 2558 ผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อยดี