- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 30 April 2015 15:52
- Hits: 1910
‘พีดีพี 2015’ลงทุนเกินจำเป็น ประชาชนแบกภาระจ่ายค่าไฟฟ้าแพง
แนวหน้า : กระทรวงพลังงาน จัดรับฟังความคิดเห็น ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 (พีดีพี 2015)รอบสุดท้ายก่อนเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 14 พฤษภาคม โดยในแผนดังกล่าวคำนวณจากสมมุติฐานจีดีพีเฉลี่ย 3.94% ต่อปี โดยแผนนี้จัดทำควบคู่ไปกับแผนอนุรักษ์พลังงานที่กำหนดว่าใน 20 ปีจะลดการใช้พลังงาน 10,000 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 89,672 ล้านหน่วย แผนพลังงานทดแทน 20%ของการใช้พลังงานทั้งหมดหรือมีกำลังผลิตรวม 19,635 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนพีดีพีประเมินว่าการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปลายแผนหรือจะมีกำลังผลิตกว่า 70,410 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีการกระจายเชื้อเพลิงเพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากที่สุด การใช้ก๊าซจะลดจากปี 2557 ที่ 64% เหลือ 30-40% ถ่านหินเพิ่มจาก 20 % เป็น 20-25% พลังน้ำจากต่างประเทศเพิ่มจาก7% เป็น 15-20% พลังงานหมุนเวียนเพิ่มจาก 8% เป็น 15-20 % นิวเคลียร์ 0-5% ซึ่งตามแผนคาดว่าค่าไฟฟ้าปี 2579 จะอยู่ที่ 5.50 บาท/หน่วย
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการสัมมนารับฟังความคิดเห็น “ร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2015) รอบสุดท้าย ว่า จะนำข้อเสนอแนะไปปรับแก้ไข แต่คงไม่เปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมตามที่เอกชนบางรายเสนอ เนื่องจากยืนยันว่าที่ผ่านมา กระทรวงรับฟังความคิดเห็นครบถ้วนทุกภาระส่วนแล้ว โดยใช้ระยะเวลาในการดำเนินการมา 6-7 เดือน โดยเตรียมจะเสนอแผนพีดีพี 2015 เข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
“การปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 20 ปี อยู่ที่4.587 บาท ต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 1.8% ต่อปีเท่านั้น นับว่าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่ำกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ส่วนข้อเสนอให้มีการปรับสัญญารับซื้อไฟฟ้า(พีพีเอ) แบบยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเลื่อนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเนื่องจากปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศอยู่ในระดับสูงนั้น กระทำได้เฉพาะส่วนของโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนโรงไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่(ไอพีพี) และรายเล็ก (เอสพีพี) กระทำได้ยาก เนื่องจากที่ผ่านมาการเลื่อนโรงไฟฟ้าของเอกชนที่มีสัญญากำหนดเข้าระบบจะต้องมีภาระค่าใช้จ่าย”
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า การจัดทำแผนพีดีพี ปัญหาที่พบนอกจากการวางแผนพยากรณ์ไฟฟ้าที่ผิดพลาดของพีดีพีฉบับเดิม เชื่อว่าจะสะท้อนมายังพีดีพี 2015 ด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันการทำสัญญาพีพีเอกับเอกชน ก็ผูกมัดรัฐมากเกินไปจนไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ อาทิ กรณีโรงไฟฟ้าในเครือกัลฟ์ จำนวน 5 พันเมกะวัตต์ แม้ว่าที่ผ่านมา คสช. ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการประมูล และมีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน( กกพ.) ยกชุด แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ดังนั้นรัฐต้องมีการทำสัญญาแบบยืดหยุ่นเพื่อปกป้องภาคประชาชนในอนาคต
นางบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่ามีความเป็นห่วงปริมาณสำรองไฟฟ้าพีดีพี 2015 ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้เห็นว่าการพยากรณ์ที่ผ่านมามีปัญหา และรัฐควรต้องมีการรับผิดชอบ ไม่ผลักภาระให้กับประชาชน โดยในเกณฑ์การกำหนดสำรองไฟฟ้าที่ไม่ต่ำกว่า 15 % นั้น ส่วนตัวเห็นด้วยแต่รัฐควรกำหนดเพดานขั้นสูงด้วย ซึ่งจากการคำนวณพบว่าเป็นการลงทุนที่เกินความจำเป็นกว่า 2.5 แสนล้านบาท แทนที่จะนำเม็ดเงินมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆแทน
นายเทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการผู้ร่วมจัดทำแผนพีดีพี กล่าวว่า สำรองที่สูงมากเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเกินคาด ประกอบกับสัญญาการซื้อไฟฟ้าจากเอกชนที่ปัจจุบันมีกำลังผลิตเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นสัญญาที่ไม่ยืดหยุ่น ทำให้เกิดปัญหาและควรต้องทบทวนสัญญาในอนาคต ซึ่งในอดีต กฟผ.เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเพียงรายเดียวแผนก่อสร้างมีการยืดหยุ่น มีการเลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อสำรองไฟฟ้า