- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 29 April 2015 09:48
- Hits: 2285
ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังคาดการณ์สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง
-ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับตัวลดลงหลังตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ถูกคาดการณ์ว่ายังอยู่ในระดับสูง โดยรอยเตอร์ได้รายงานคาดการณ์ตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 เม.ย. 58 ปรับเพิ่มขึ้นอีก 1.3 ล้านบาร์เรล หลังไปแตะที่ระดับ 489 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ 17 เม.ย. 58 นอกจากนี้ยังคาดการณ์ปริมาณน้ำมันดีเซลและเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 1.2 และ 0.8 ล้านบาร์เรลตามลำดับ
- นอกจากนี้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงยังกดดันให้ภาวะราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังบริษัทมาร์กิต แสดงตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ (PMI) ลดลงสู่ระดับ 57.8 ในเดือน เม.ย. 58 น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และปรับตัวลดลงจากระดับ 59.2 ในเดือน มี.ค. 58 ทางด้านดัชนีการผลิตของสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 58 ปรับลดลงเช่นเดียวกันไปแตะที่ระดับ 57.4 ซึ่งน้อยกว่าเดือน มี.ค. 58 ที่อยู่ที่ระดับ 59.2
+/- บริษัท Baker Hughes เปิดเผยตัวเลขจำนวนแท่นผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ดำเนินการผลิตอยู่ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 เม.ย.58 มีจำนวนลดลงมาอยู่ที่ 703 แท่น หลังมีจำนวนแท่นผลิตหยุดดำเนินการไป 31 แท่นในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า ทำให้จำนวนแท่นผลิตในสหรัฐฯ ลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2553 อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์ยังคงมองว่าการปรับลดจำนวนแท่นผลิตจะยังไม่สามารถบรรเทาภาวะอุปทานล้นตลาดในช่วงเวลานี้ได้มากนัก
+/- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันแห่งซาอุดิอาระเบียเปิดเผยอย่างเป็นทางการในกรุงปักกิ่งว่า ซาอุดิอาระเบียเตรียมพร้อมที่จะส่งออกน้ำมันดิบให้แก่ประเทศจีนหากมีความต้องการน้ำมันดิบเพิ่มเติม
+ อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันดิบไม่ได้ปรับลดลงไปมากนัก เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในเยเมนยังคงร้อนระอุ หลังซาอุดิอาระเบียยังคงโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มกบฏฮูธิอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความกังวลเรื่องอุปทานน้ำมันดิบในภูมิภาคตะวันออกกลาง และเป็นเหตุให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว้าเยเมนจะไม่ได้เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ แต่มีชายฝั่งด้านหนึ่งติดช่องแคบบับเอลมันเดบซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์เข้าสู่ทะเลแดงที่ใช้เป็นเส้นทางในการขนส่งน้ำมันผ่านคลองสุเอซ
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังมีอุปสงค์น้ำมันเบนซินจากประเทศอินโดนีเซียเพิ่มมากขึ้นถึง 10.8 ล้านบาร์เรลในเดือน พ.ค. นอกจากนี้ประเทศอียิปต์มีความต้องการที่จะนำเข้าน้ำมันเบนซินเพิ่มเติมสำหรับช่วงปลายเดือน พ.ค. 58
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานในภูมิภาคยังคงล้นตลาด เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง ทำให้มีอุปทานออกมาในตลาดเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้คาดว่าญี่ปุ่นจะกลับมาส่งออกเพิ่มขึ้นในเดือน มิ.ย. 58 หลังโรงกลั่นกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 60-66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเยเมนว่าเป็นไปในทิศทางใด หลังล่าสุดซาอุดิอาระเบียยังคงเดินหน้าทิ้งระเบิดโจมตีกลุ่มกฎบฮูธิในเยเมนต่อ แม้ว่าซาอุดิอาระเบียจะออกมาเผยเมื่อวันอังคารที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมาว่าได้ยุติปฏิบัติการทางทหารในประเทศเยเมนเพื่อต่อต้านกลุ่มกบฏฮูธิแล้ว หลังจากยืดเยื้อมานานกว่า 4 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังเกิดการสู้รบในภาคพื้นดินอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มกบฏและกองกำลังที่ภักดีต่ออดีตประธานาธิบดีของเยเมนซึ่งขณะนี้ได้ลี้ภัยไปยังซาอุดิอาระเบียแล้ว จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเยเมน อย่างไรก็ดี แม้ว่าเยเมนจะไม่ใช่ประเทศที่ผลิตน้ำมันหลัก แต่ตลาดก็มีความกังวลว่าสถานการณ์อาจจะบานปลายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันได้ ซึ่งก็อาจจะส่งผลกระทบให้อุปทานน้ำมันดิบลดลง และทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นได้
ติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ที่จัดขึ้นในวันที่ 28-29 เม.ย. นี้ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (Fed Funds Rate) หรือไม่ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ได้คงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำที่ร้อยละ 0 - 0.25 มานานกว่า 6 ปี หากเฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นและกดดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับลดลงได้
จับตาธนาคารกลางจีนว่าจะมีการออกมาตรการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองสำหรับธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ หลังจากมีการปรับลดไปแล้ว 1% เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการปรับลดเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ธนาคารกลางได้ปรับลดไปแล้ว 0.5% เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยนักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีนอาจจะปรับลดอัตรา RRR ลงอีกภายในปีนี้ เนื่องจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจหลังจากที่มีการลดอัตรา RRR ว่าจะมีเสถียรภาพดีขึ้นหรือไม่ ถ้าหากเศรษฐกิจยังไม่มีการฟื้นตัวที่ชัดเจน ธนาคารกลางจีนก็อาจจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างอื่นเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ จีนถือเป็นประเทศที่มีการบริโภคน้ำมันหลักของโลก ดังนั้นหากเศรษฐกิจจีนสามารถฟื้นตัวได้ก็จะทำให้ความต้องการน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นตามไปด้วยและส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น