- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 27 April 2015 21:32
- Hits: 1702
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เพิ่มขึ้น จากการสู้รบในเยเมนยืดเยื้อ ส่วน WTI ลดลง หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังอยู่ในระดับสูง
+/- ราคาน้ำมันดิบปรับสวนทางกัน โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 4 เดือน เนื่องจากการความกังวลด้านอุปทาน หลังการสู้รบในเยเมนยังคงยืดเยื้อ ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับลดลง เนื่องจากความกังวลว่าปริมาณอุปทานอยู่ในระดับสูง
+ ซาอุดิอาระเบียยังคงโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มกบฏฮูธิในเยเมนทางด้านตอนกลางและใต้ของประเทศ ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าปัญหาอาจจะบานปลาย โดยจะส่งผลต่ออุปทานน้ำมันดิบจากประเทศในตะวันออกกลางลดลง ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น
+ นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินยูโรและตะกร้าเงิน เนื่องจากดัชนีเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาไม่ดีนัก โดยยอดแผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจเดือนมี.ค. ลดลง 0.5% จากเดือนก่อน โดยลดลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน ทำให้คาดว่าเฟดจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปยังช่วงปลายปีนี้
- ส่วนราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับลดลง เนื่องจากความกังวลว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสรหรัฐฯ อาจแตะระดับสูงสุดในช่วงสัปดาห์นี้ แม้ว่าอุปสงค์จะเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ในช่วงฤดูกาลขับขี่
+/- ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตและนักลงทุนยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าการปรับลดลงของราคาน้ำมันได้สิ้นสุดแล้วหรือไม่ โดยนักวิเคราะห์บางรายให้ความเห็นว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil)เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในปัจจุบันปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปกสูงกว่าอุปสงค์เกือบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
+/- ธนาคาร Societe Generale ของฝรั่งเศส ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในปีนี้ โดยปรับเพิ่มราคาเฉลี่ยของราคาน้ำมันดินเบนรท์ 4.33 เหรียญฯ มาที่ 59.54 เหรียญฯ ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับเพิ่ม 4.28 เหรียญฯ ต่อบาร์เรลมาที่ 53.62 เหรียญฯ หลังมองว่ามองว่าการปรับลดอัตราการผลิตของสหรัฐฯ จะช่วยลดอุปทานส่วนเกิน ในขณะที่สัปดาห์ก่อนธนาคาร Macquarie ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซ์ซัสลง หลังมองว่าอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์จากอินโดนีเซียเพื่อใช้ในช่วงรอมฎอนอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี รัฐบาลอินโดนีเซียมีแผนที่จะลดการนำเข้า โดยการปรับเปลี่ยนชนิดน้ำมันเบนซินจากเกรดออกเทน 88 มาที่ ออกเทน 90 มีผลในเดือน พ.ค. นี้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ปริมาณการนำเข้าของอินโดนีเซียลดลง 10-20% นอกจากนี้อุปทานในอินโดนีเซียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจะมีการดำเนินการของหน่วยกลั่นใหม่ในเดือน มิ.ย. นี้
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานในภูมิภาคอยู่ในระดับสูง หลังโรงกลั่นเพิ่มอัตราการผลิต และการขยายกำลังของโรงกลั่นในตะวันออกกลางและจีน ประกอบกับการส่งออกไปยุโรปทำได้ยาก อย่างไรก็ดี อุปสงค์จากเวียดนามและศรีลังกายังคงมีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากเคนย่า
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 60-66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเยเมนว่าเป็นไปในทิศทางใด หลังล่าสุดซาอุดิอาระเบียยังคงเดินหน้าทิ้งระเบิดโจมตีกลุ่มกฎบฮูธิในเยเมนต่อ แม้ว่าซาอุดิอาระเบียจะออกมาเผยเมื่อวันอังคารที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมาว่าได้ยุติปฏิบัติการทางทหารในประเทศเยเมนเพื่อต่อต้านกลุ่มกบฏฮูธิแล้ว หลังจากยืดเยื้อมานานกว่า 4 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังเกิดการสู้รบในภาคพื้นดินอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มกบฏและกองกำลังที่ภักดีต่ออดีตประธานาธิบดีของเยเมนซึ่งขณะนี้ได้ลี้ภัยไปยังซาอุดิอาระเบียแล้ว จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเยเมน อย่างไรก็ดี แม้ว่าเยเมนจะไม่ใช่ประเทศที่ผลิตน้ำมันหลัก แต่ตลาดก็มีความกังวลว่า สถานการณ์อาจจะบานปลายไปยังภูมิภาคอื่นๆที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันได้ซึ่งก็อาจจะส่งผลกระทบให้อุปทานน้ำมันดิบลดลงและทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นได้
ติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ที่จัดขึ้นในวันที่ 28-29 เม.ย. นี้ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (Fed Funds Rate) หรือไม่ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ได้คงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำที่ร้อยละ 0 - 0.25 มานานกว่า 6 ปี หากเฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นและกดดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับลดลงได้
จับตาธนาคารกลางจีนว่าจะมีการออกมาตรการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองสำหรับธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ หลังจากมีการปรับลดไปแล้ว 1% เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการปรับลดเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ธนาคารกลางได้ปรับลดไปแล้ว 0.5% เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยนักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีนอาจจะปรับลดอัตรา RRR ลงอีกภายในปีนี้ เนื่องจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจหลังจากที่มีการลดอัตรา RRR ว่าจะมีเสถียรภาพดีขึ้นหรือไม่ ถ้าหากเศรษฐกิจยังไม่มีการฟื้นตัวที่ชัดเจน ธนาคารกลางจีนก็อาจจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างอื่นเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ จีนถือเป็นประเทศที่มีการบริโภคน้ำมันหลักของโลก ดังนั้นหากเศรษฐกิจจีนสามารถฟื้นตัวได้ก็จะทำให้ความต้องการน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นตามไปด้วยและส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น