- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 26 April 2015 12:53
- Hits: 1815
ก.พลังงาน แถลงผลงาน 6 เดือนคืนความเป็นธรรมราคาเชื้อเพลิง-ล้างหนี้กองทุนน้ำมัน
กระทรวงพลังงานแถลงผลงาน 6 เดือน แก้ไขเรื่องเร่งด่วนคืนความเป็นธรรมราคาเชื้อเพลิง ล้างหนี้สินกองทุนน้ำมัน เดินหน้าอนุมัติโครงการพลังงานทดแทนที่ค้างพิจารณากว่า160 โครงการ 918.33 เมกะวัตต์ พร้อมแก้ไขกฎระเบียบลดอุปสรรคส่งเสริมพลังงานทดแทนเผยผลงานตามนโยบายรัฐบาล ด้านมั่นคง วางกรอบแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติเป็นครั้งแรกของประเทศ นำเข้า LNG เจรจาซื้อไฟฟ้าเพื่อนบ้าน พร้อมเตรียมเปิดให้มีการยื่นขอรับสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ด้านมั่งคั่ง ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน สร้างรายได้กองทุนน้ำมันกลับเป็นบวกเกือบ 4 หมื่นล้าน เก็บเงินจากภาษีสรรพสามิตได้ 8 หมื่นล้านบาทต่อปี ลดนำเข้า LPG ช่วยชาติประหยัดได้1 พันล้านบาทต่อเดือนและลดการผูกขาดในธุรกิจพลังงาน ด้านยั่งยืน กำหนดอัตรารับซื้อพลังงานทดแทนระบบ FiTจูงใจการลงทุน พร้อมรณรงค์อนุรักษ์พลังงานต่อเนื่อง
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานขอรายงานสรุปผลงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา (12 กย. 2557- 31 มีค. 2558) ตามการแถลงผลงานของรัฐบาล โดยในด้านพลังงานซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนภาคสังคม และเศรษฐกิจของประเทศนั้น ต้องยอมรับว่าก่อนที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะเข้ามาบริหาร ได้เกิดปัญหาเชิงนโยบายที่เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน ได้แก่ โครงสร้างราคาพลังงานบิดเบือน ส่งผลปัญหาหนี้สินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ติดลบเกือบ 6,000 ล้านบาท ซึ่งมาจากสาเหตุการอุดหนุนราคาข้ามเชื้อเพลิง ประชาชนใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ การหยุดชะงักของการพัฒนาพลังงานทดแทนโครงการค้างการอนุมัติจำนวนมาก รวมถึงปัญหาการผูกขาดในกิจการพลังงาน
ทั้งนี้ การดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน จึงได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 เรื่อง เพื่อเร่งจัดการแก้ไขปัญหาภาพรวมของปัญหาวิกฤตภาคพลังงานดังกล่าว รวมทั้งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่
1. เรื่องเร่งด่วน พุ่งเป้าสร้างความเป็นธรรมแก่ราคาเชื้อเพลิงแต่ละชนิด เร่งแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อบริหารจัดการใหม่โดยเฉพาะการลดการบึดเบือนการใช้พลังงาน ดำเนินการปรับรูปแบบการคำนวนต้นทุนก๊าซหุงต้ม (LPG) ปรับอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต และปรับอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อสร้างผลประโยชน์สูงสุด
รวมทั้งที่สำคัญสุด คือ การเร่งปลดล็อคเดินหน้าอนุมัติโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ค้างการพิจารณาไว้ในหลายรัฐบาลก่อน โดยปัจจุบันได้ดำเนินการอนุมัติโครงการพลังงานหมุนเวียนไปแล้วทั้งสิ้น 160 โครงการ ปริมาณรวมสูงถึง 918.33 เมกะวัตต์
2. ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งได้แบ่งออกเป็น
(1) มิติด้านความมั่นคง (Security) ด้วยการดำเนินการวางกรอบแผนพลังงานในภาพรวม หรือ Thailand Integrated Energy Blueprint ซึ่งถือเป็นแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยได้รวบรวมแผนพลังงานของประเทศทั้งหมดเข้าไว้ในแผนเดียว ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEDP) แผนก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนน้ำมัน (Oil Plan) โดยมีการรวบรวมทั้ง 5 แผนเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างความมั่นคงและตอบสนองความต้องการพลังงานของประเท การพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
รวมทั้งแนวทางการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานร่วมกับนานาประเทศ เช่น เริ่มรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากประเทศกาตาร์ การรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน ในประเทศ สปป.ลาว การลงนามความร่วมมือหรือMOU ร่วมกับประเทศรัสเซีย การลงนามความร่วมมือร่วมกับ ทบวงพลังงานโลก (International Energy Agency : IEA) รวมไปถึงความพยายามผลักดันให้เกิดการยื่นขอรับสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ เป็นต้น
(2) มิติด้านความมั่งคั่ง (Economy) กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการต่อเนื่องจากมาตรการเร่งด่วน ซึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในช่วงแรกของการเข้าดำเนินงาน ทั้งนี้ปัจจุบันได้ส่งผลให้กองทุนน้ำมันมีรายได้กลับมาเป็นบวกเกือบ 4 หมื่นล้านบาท (จากที่เคยติดลบกว่า 6,000 ล้านบาท) มีเงินเข้าคลังจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่เพิ่มขึ้นประมาณ 8 หมื่นล้านบาทต่อปีรวมทั้งลดการนำเข้าก๊าซหุงต้ม (LPG) ช่วยประเทศประหยัดได้เดือนละ 1,000 ล้านบาท
และที่สำคัญหลังจากกระทรวงพลังงานได้บริหารนโยบายด้านพลังงานอย่างจริงจังประกอบกับราคาพลังงานโลกมีการอ่อนตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการปรับลดค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือค่า FT ครั้งใหญ่สุดในรอบ 14 ปี ซึ่งช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ผลงานสำคัญของกระทรวงพลังงานได้การสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศอีกประการ คือการปรับโครงสร้างกิจการพลังงาน เพื่อเพิ่มการแข่งขัน ลดการผูกขาดในธุรกิจพลังานที่มีผู้ประกอบการน้อยราย โดยกำหนดให้มีการเปิดโอกาสให้บุคคลที่ 3 หรือ Third Party Access ได้มีโอกาสมาใช้ท่อก๊าซธรรมชาติจากเดิมที่มีการผูกขาดเพียงรายเดียว รวมทั้งผลงานที่เด่นชัดอีกประการคือ การให้ ปตท. ลดการถือหุ้นในโรงกลั่น บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด(มหาชน) หรือ SPRC และบางจากลง ซึ่งนำมาถึงการที่โรงกลั่น SPRC ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาเป็นเจ้าของโรงกลั่นน้ำมันได้ต่อไป
(3) มิติด้านความยั่งยืน (Ecology) ซึ่งถือเป็นมิติที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง กระทรวงพลังงานในยุคปัจจุบัน ได้ส่งเสริมให้มีการรับซื้อพลังงานทดแทน ด้วยการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มาเป็นระบบ Feed in Tariff (FiT) พร้อมปรับปรุงกฎหมายและการอำนวยความสะดวกในการออกใบอนุญาต ทำให้กระบวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) มีการเติบโต และมีผู้ประกอบการสนใจเข้าลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังได้ผลักดันให้ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศหรือ IRENA ซึ่งจะได้รับความร่วมมือในการผลักดันพลังงานทดแทนของประเทศ จากนานาชาติอีกด้วย และถือเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะได้รับองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนจากประเทศสมาชิกอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ ด้านการอนุรักษ์พลังงาน ต้องถือว่าในปัจจุบันเป็นยุคทองของการอนุรักษ์พลังงานภายในประเทศอย่างยิ่ กระทรวงพลังงานได้ดำเนินโครงการส่งเสริมเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งระหว่างปี 2557 – 2558 ได้ดำเนินการติดฉลากประสิทธิภาพสูงให้แก่ผลิตภัณฑ์ 8 ประเภทติดฉลากแล้ว 5,156,317 ใบ ตลอดจนมีการรณรงค์การประหยัดพลังงานต่อเนื่องในภาคเอกชน กลุ่มโรงงาน อาคาร และประชาชนทั่วไป
นายณรงค์ชัย กล่าวเพิ่มว่า ผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา นอกจากการเร่งแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมาในภาคพลังงาน รวมทั้งการวางนโยบายพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามนโยบายหลักของรัฐบาลแล้ว ในภารกิจต่อไป กระทรวงพลังงานยังพร้อมที่จะผลักดันผลงานสำคัญๆ ต่อเนื่องในอนาคต เช่น การบริหารสัมปทานที่จะหมดอาย การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย – กัมพูชา การเปิดให้ยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เร่งรัดการออกกติกาเพื่อให้การรับซื้อพลังงานทดแทนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การเชื่อมโยงและพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศเพื่อนบ้าน และการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติในภาพรวมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจต่อไป
รมว.พลังงานยืนยันเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ในมิ.ย.
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลจะเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 2 ในเดือนมิ.ย.58 หลังจากที่เลื่อนมาก่อนหน้านี้ โดยขณะนี้รอเพียงการศึกษา แก้ไขกฎหมาย โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)
"ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรียืนยันจะดำเนินการเสร็จสิ้น 3 เดือน ทหาร ไม่เสียสัตย์ ดังนั้น เดือนมิถุนายนก็จะเดินหน้าได้ ก็ไม่อยากเรียกว่าสัมปทาน 21 ที่อาจจะทำให้หลายคนไม่ถูกใจ แต่ต้องเดินหน้าเพื่อความมั่นคง" รมว.พลังงานกล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย