WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ปรับโครงสร้างพลังงานกระจายความเสี่ยง-ลดต้นทุนไฟฟ้า

    ไทยโพสต์ : 'พลังงาน' ที่ทุกคนใช้อยู่ในเวลานี้ ทั้งไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซต่างๆ ล้วนเป็นพลังงานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบัน แต่ปริมาณพลังงานที่มีจำกัดในไทย และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลไทยประสบปัญหาด้านพลังงานที่ต้องแก้ไขกันหลายประการ

    ทั้งนี้ เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องติดตามและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ในขณะนี้ คือ ปัญหาด้านไฟฟ้า โดยเมื่อเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ไทยมักประสบปัญหาด้านไฟฟ้าเป็นประจำ เพราะเป็นช่วงของการปิดซ่อมบำรุงท่อก๊าซธรรมชาติจากประเทศเมียนมาร์เป็นประจำทุกปี ซึ่งกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของไทย เนื่องจากไทยใช้ก๊าซจากเมียนมาร์ผลิตไฟฟ้าถึง 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ไทยผลิตได้จากอ่าวไทย และใช้เองอยู่ประมาณกว่า 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือเท่ากับใช้ก๊าซ เมียนมาร์ถึง 1 ใน 3 ของก๊าซทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ

    โดยโรงไฟฟ้าที่กระทบนั้นจะตั้งอยู่ฝั่งตะวันตก ได้แก่ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนราชบุรี โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรี โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรีเพาเวอร์ และโรงไฟฟ้าไตรเอ็นเนอร์จี้

   สำหรับ ในปี 2558 นี้ กระทรวงพลังงานต้องเตรียมแผนรับมือก๊าซหายจากระบบถึง 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ก๊าซเมียนมาร์จากแหล่งยาดานาและเยตากุน จะปิดซ่อมบำรุงเป็นเวลา 10 วัน ระหว่างวันที่ 10-19 เม.ย.2558 และต่อมาครั้งที่ 2 เมื่อแหล่งก๊าซซอติก้าของเมียนมาร์ จะปิดซ่อมบำรุง 8 วัน ระหว่างวันที่ 20-27 เม.ย.2558 และครั้งที่ 3 แหล่งก๊าซในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) จะปิดซ่อมบำรุงประมาณเดือน ส.ค.ก.ย.2558 นี้

   ทั้งนี้ กรณีก๊าซเมียนมาร์ปิดซ่อมบำรุงใน 2 ช่วงดังกล่าว จะส่งผลให้ก๊าซที่เคยส่งให้ไทยประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หายไปจากประเทศไทยทันที และมีผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 2,600 เมกะวัตต์ กระทรวงพลังงานได้เตรียมสำรองน้ำมันดีเซลไว้ 56 ล้านลิตร และน้ำมันเตา 140 ล้านลิตร ให้กับโรงไฟฟ้าไว้ใช้ทดแทนก๊าซ แต่จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ของประชาชนที่ต้องแบกรับภาระประมาณ 8.35 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นเงิน 4,547 ล้านบาท ที่จะไปบวกรวมเป็นค่าเอฟทีในงวดถัดไปเดือน พ.ค.-ส.ค.2558 นี้

    นอกจากนี้ ยังได้สำรองก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วย ประกอบกับจะมีไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหงสาของสปป.ลาว ซึ่งใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า จะเข้ามาเสริมระบบไฟฟ้าให้ไทยในเดือน เม.ย.2558 ประมาณ 200-300 เมกะวัตต์

   อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ เรกูเล เตอร์ อยู่ระหว่างหาแนวทางช่วยลดผลกระทบกับประชาชน โดยจัดทำโครงการความร่วมมือลดใช้ไฟฟ้า (ดีอาร์) ซึ่งขอความร่วมมือโรงงาน ห้างสรรพสินค้า ช่วยลดใช้ไฟฟ้า โดยให้ผลตอบแทน 3 บาทต่อหน่วย กำหนดเป้าหมายลดใช้ไฟฟ้าให้ได้ 500 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อค่าเอฟทีลงได้ 0.08 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นเงิน 48 ล้านบาท

    ส่วนวิกฤติไฟฟ้าเจดีเอช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.2558 นี้ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ปรับโรงไฟฟ้าจะนะ 1 ให้สามารถใช้เชื้อเพลิงได้ 2 ชนิด คือ ก๊าซและน้ำมัน โดยหากก๊าซเจดีเอหาย ก็ยังใช้น้ำมันแทนได้ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าจาก จะนะ 1 ที่มีปริมาณผลิตไฟฟ้าอยู่ 700 เมกะวัตต์ ไม่หายไปจากระบบ นอกจากนี้ได้ปรับปรุงระบบสายส่งไฟฟ้าที่รองรับไฟฟ้าจากภาคกลางส่งลงไปยังภาคใต้ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และเตรียมเจรจากับประเทศมาเลเซีย เพื่อขอซื้อไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉินไว้ด้วย ซึ่งจะเป็นมาตรการที่เชื่อว่าจะป้องกันไฟฟ้าดับในปี 2558 นี้ได้

    อย่างไรก็ตาม ปัญหาการปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซ จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี หลายฝ่ายเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จโดยไม่ต้องมาพะวงกับการปิดซ่อมดังกล่าวอีก ซึ่งแนวทางที่กระทรวงพลังงานและบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ กฟผ.เตรียมแก้ปัญหาระยะยาวคือ การสร้างคลังลอยน้ำรองรับแอลเอ็นจีมาใช้แทนก๊าซเมียนมาร์ช่วงวิกฤติต่างๆ รวมทั้งสร้างท่อก๊าซเส้นที่ 5 เพื่อจะสามารถดึงก๊าซ ทั้งจากแอลเอ็นจี ก๊าซจากแหล่งตะวันออก ตะวันตก มาทดแทนกันได้หมด ซึ่งปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าที่เกิดจากปิดซ่อมบำรุงก๊าซประจำปีก็จะลดน้อยลงไปในอนาคตพีดีพี 2015 กระจายความเสี่ยง ค่าไฟเฉลี่ย 4.587 บาทต่อหน่วย

    นั่นคือ ปัญหาเฉพาะหน้าที่กระทรวงพลังงานต้องติดตามแก้ไขในช่วงสงกรานต์นี้ ส่วนการปรับปรุงไฟฟ้าทั้งประเทศเพื่อรองรับการ   ใช้ในระยะยาว 21 ปีนั้น ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังจัดทำแผนไฟฟ้าระยะยาว หรือเรียกว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประ เทศไทย พ.ศ.2558-2579 หรือพีดีพี 2015 ซึ่งเปิดรับฟังความเห็นกลุ่มย่อยที่เกี่ยวข้องไปแล้วเมื่อวันที่ 8 เม.ย.2558 ที่ผ่านมานี้ และเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นรอบสุดท้ายสำหรับประชาชนทั่วไปในวันที่ 28 เม.ย.2558 จากนั้นเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือน พ.ค.2558 นี้ต่อไป

   นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุชัดว่า ในแผนพีดีพี 2015 จะลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติลง จากปัจจุบันที่ใช้อยู่ 64% เหลือ 45-50% ในปี 2569 และจะลดลงเหลือ 30-40% ในปี 2579 ในขณะที่สัดส่วนเชื้อเพลิงถ่านหินสะอาดในการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 20% เป็น 20-25% ในปี 2579 และสัดส่วนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังน้ำจากต่างประเทศ จาก 7% เพิ่มเป็น 10-15% ในปี 2569 และเพิ่มขึ้นเป็น 15-20% ในปี 2579

   ส่วนเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 10-20% ในปี 2569 และเป็น 15-20% ในปี 2579 นอกจากนี้ในแผนพีดีพี 2015 ยังระบุเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ไว้ที่ 0-5% ในปี 2579 ด้วย เพื่อเป็นตัวเลือกสำหรับการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ นอกจากนี้ยังระบุเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลและน้ำมันเป็น 0% ในปี 2569 จากปัจจุบันอยู่ที่ 1%

  นอกจากนี้ ในแผนพีดีพี 2015 ยังเป็นไปตามมติ กพช.  เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2557 ที่ผ่านมา ที่มีมติเห็นชอบให้จัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน (อีอีดีพี) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี) ให้มีกรอบระยะเวลาของแผนระหว่างปี 2558-2579 เช่นเดียวกับแผนพีดีพี 2015

  อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานยังพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าปี 2558-2579 โดยพิจารณาถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และนโยบายของรัฐที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนและระบบราง และปรับความต้องการใช้ไฟฟ้ากรณีปกติ ให้สอดคล้องกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2556-2579 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.94% ต่อปี เทียบกับแผนพีดีพี 2010 เฉลี่ยที่ 4.41% ต่อปี

   ดังนั้น หากกระทรวงพลังงานสามารถกระจายเชื้อเพลิงได้ตามแผนพีดีพี 2015 จะช่วยให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยลดลง โดยเฉลี่ยทั้งแผน 21 ปี จะอยู่ที่ 4.587 บาทต่อหน่วย หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 1.89% เท่านั้น ซึ่งปลายแผนค่าไฟจะอยู่ที่ระดับ 5.55 บาทต่อหน่วย แต่ก็ยังดีกว่าพึ่งพาการนำเข้าแอลเอ็นจีในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากในอนาคตสถานการณ์ราคาแอลเอ็นจีอาจเปลี่ยนแปลงไปซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก ดังนั้น สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจำเป็นต้องกระจายเชื้อเพลิงหลากหลายชนิด

    นอกจากเรื่องของไฟฟ้าที่ภาครัฐพยายามปรับสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงให้สมดุล เพื่อให้ราคาค่าไฟฟ้าไม่สูงเกินไปในอนาคตนั้น กระทรวงพลังงานยังเตรียมวางแผนด้านน้ำมันของประเทศระยะยาว 20 ปี สอดคล้องกับแผนพีดีพีด้วย

   นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานกล่าวว่า แผนน้ำมันคาดว่าจะเข้าที่ประชุม กพช.ได้ พ.ค.2558 นี้ ทั้งนี้ ในแผนน้ำมันได้มีการนำแผนการประหยัดพลังงาน และแผนส่งเสริมพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เข้ามาคิดรวมอยู่ในแผนน้ำมันด้วย เพื่อที่จะรู้ว่าในช่วงระยะเวลา 20 ปี ของแผนแม่บทน้ำมันนั้น จะสามารถประหยัดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลงไปได้เท่าไหร่  และจะมีพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกอย่าง เอทานอล, ไบโอดีเซล, ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี), ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) หรือเชื้อเพลิงในอนาคตอื่นๆ เข้ามาทดแทนน้ำมันได้มากน้อยแค่ไหน เชื้อเพลิงประเภทใดควรจะส่งเสริมให้กลุ่มผู้ใช้รถประเภทใด ความจำเป็นในการลดชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิงลง เรื่องของโครงสร้างภาษีและกองทุนน้ำมันที่เหมาะสม รวมทั้งนโยบายของรัฐในเรื่องของการส่งเสริมการขนส่งทั้งคนและสินค้าด้วยระบบรางมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น แผนการขนส่งน้ำมันทางท่อ การสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ด้วย

   โดยแผนแม่บทน้ำมันจะมีความสำคัญที่จะทำให้รู้ทิศทางการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในระยะยาว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคขนส่ง อุตสาหกรรมยานยนต์ โรงกลั่นน้ำมัน รวมทั้งผู้บริโภค ซึ่งในเป้าหมายหลักของกระทรวงพลังงาน คือต้องการที่จะลดการนำเข้าน้ำมันลงและหันมาใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกอื่นๆ ให้มากขึ้น

    จะเห็นได้ว่า รัฐบาลเฉพาะกาลที่เข้ามาดูแลประเทศในขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างพลังงานที่ถูกบิดเบือนจากพรรคการเมืองหลายพรรคมานาน ให้เกิดความเหมาะสมกับสังคมไทยปัจจุบัน และเป็นไปตามทิศทางของโลกที่ควรจะเป็น โดยมุ่งเน้นการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งคงต้องติดตามมติ กพช.ว่าจะเห็นชอบทั้งเรื่องแผนพีดีพี แผนน้ำมันอย่างไร รวมถึง สนช.จะเร่งกฎหมายสำรวจปิโตรเลียมได้เสร็จและสอดคล้องกับช่วงก๊าซจะหมดได้เพียงใด คงต้องวัดใจรัฐบาลเฉพาะกาลชุดนี้ต่อไป.

แขวนสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21

    จากการสำรวจปริมาณปิโตรเลียมล่าสุดของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน พบว่า ก๊าซของไทยจะเหลือใช้ได้อีกแค่ 6 ปีข้างหน้า ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงพลังงานพยายามเร่งรัดให้เกิดการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศ เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซ ให้ประเทศรองรับปัญหาก๊าซหมดในอนาคต

   แต่การเปิดสำรวจปิโตรเลียม ภายใต้ชื่อ "การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21" กลับไม่สามารถทำได้ง่ายๆ เนื่องจากได้รับการต่อต้านมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้เตรียมเปิดสัมปทานดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2553 แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ จนกระทั่งรัฐบาลเฉพาะกาล ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ศึกษาข้อมูลและพบว่า ไทยจำเป็นต้องสำรวจหาปิโตรเลียมเพิ่มอย่างเร่งด่วน เนื่องจากกระบวนการสำรวจและผลิตจะใช้เวลาหลายปี และจะได้ทันพอดีกับช่วงที่ก๊าซในประเทศจะหมดในอีก 6 ปีข้างหน้า

    ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงสั่งการให้กรมเชื้อเพลิงประกาศเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ขึ้น โดยออกหนังสือเชิญชวนให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาขอสัมปทานได้ภายในวันที่ 18 ก.พ.2558 แต่กระแสการต่อต้านจากกลุ่มคัดค้านซึ่งนำโดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รวมถึง ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่นำกลุ่มมาคัดค้านและกดดันรัฐบาลอย่างหนัก

   โดยกลุ่มคัดค้านต้องการให้สำรวจและเปิดเผยปริมาณปิโตรเลียมที่มีจริงทั้งหมด ก่อนประกาศเชิญชวนให้มาลงทุนสำรวจ รวมทั้งต้องการให้เปลี่ยนแปลงระบบจากสัมปทาน เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) และแรงกดดันอย่างหนัก ทำให้นายกรัฐมนตรียอมถอยและขอให้กระทรวงพลังงานไปเปิดประชาพิจารณ์ใหม่ ในวันที่ 20 ก.พ.2558 ที่ผ่านมา

    อย่างไรก็ตาม ผลการทำประชาพิจารณ์ไม่ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างภาครัฐกับกลุ่มผู้คัดค้าน ทำให้ นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ  ตัดสินใจทันทีหลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไฟเขียวให้กำหนดวันเปิดขอสัมปทานขึ้นอีกครั้ง โดยให้สิ้นสุดวันยื่นขอสัมปทานในวันที่ 16 มี.ค.2558 แทน ซึ่งทำให้แรงต่อต้านยิ่งหนักขึ้น จนรัฐบาลสั่งการให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมออกไปก่อน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยอมลงนามเลื่อนการเปิดสัมปทานอีกครั้งอย่างไรก็ตาม การเลื่อนเปิดสัมปทานปิโตรเลียมในครั้งนี้ นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้กล่าวว่า การยกเลิกดังกล่าวเป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงนามเมื่อวันที่ 26 ก.พ.2558 และยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการยกเลิกสัมปทานปิโตรเลียม แต่รอเวลาปรับเปลี่ยน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมบางมาตรา หรือยกร่างกฎหมายเพื่อรองรับระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ที่จะนำมาใช้ในแปลงสัมปทานในอนาคต

   ส่วนการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะใช้เวลา 3 เดือนในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ซึ่งกรมจะต้องรอผลสรุปต่อไป

   สำหรับ แปลงสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ประกอบด้วยแปลงสัมปทาน 29 แปลง แบ่งเป็นบนบก 23 แปลง คือ ภาคเหนือและภาคกลาง 6 แปลง พื้นที่ 5,458.91 ตารางเมตร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 แปลง พื้นที่ 49,196.40 ตารางเมตร และแปลงในอ่าวไทยอีก 6 แปลง พื้นที่ 11,808.20 ตารางเมตร อย่างไรก็ตาม ระบบสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ที่กระทรวงพลังงานได้ประกาศออกมานั้น ได้ยืดหยุ่นจากการให้สัมปทานในระบบไทยแลนด์ 3 มาเป็นระบบไทยแลนด์ 3+ แทน

   สำหรับ หลักเกณฑ์ผลประโยชน์ไทยแลนด์ 3 นั่นคือ 1.ปรับปรุงค่าภาคหลวงจากระบบเดิมกำหนดตายตัว 12.5% ของราย ได้จากการขายปิโตรเลียม มาเป็นระบบก้าวหน้า แบบขั้นบันไดตามปริมาณการขาย 2.มีการเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทน พิเศษเข้าภาครัฐ คือ หากผู้ลงทุนมีกำไรมากพอแล้ว รัฐควรได้รับส่วนแบ่งเพิ่มเติมในสัดส่วนที่สูงขึ้น นอกเหนือจากค่าภาคหลวง+ภาษีที่ได้รับตามปกติ และ 3.เรียกเก็บภาษีเงินได้ปิโตร เลียมในอัตราเดิม 50% ของกำไรสุทธิ ซึ่งแต่ละปีจะมีเงินเข้ารัฐประมาณ 161,000 ล้านบาท นับตั้งแต่ ส.ค.2532 เป็นต้นมา

    ขณะที่ 'ไทยแลนด์ 3 พลัส'ได้เพิ่มผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับเข้าไปอีก 2 ข้อจากไทยแลนด์ 3 คือ 1.การสนับสนุนเงินเพื่อการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น ในช่วงสำรวจได้ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ล้านบาท และช่วงผลิตจะได้ไม่น้อยกว่าปีละ 2 ล้านบาท และ 2.เสนอให้บริษัทไทยเข้าร่วมประกอบกิจการในอัตราไม่น้อยกว่า 5% และที่สำคัญต้องใช้สินค้าและบริการในประเทศไทยเป็นอันดับแรก นอกเหนือจากนี้จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเมื่อมีการลงนามกับเอกชนที่ได้รับสัมปทาน แม้ว่าจะสำรวจพบปิโตรเลียมหรือไม่ และการเรียกเก็บผลประโยชน์เพิ่มเติมเมื่อเอกชนสามารถผลิตได้ตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนด

   ส่วนระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตนั้น จะแตกต่างโดยเปรียบเทียบกับระบบสัมปทานคือ 1.จะมีการเรียกเก็บค่าภาคหลวงประ มาณ 12.5-20% ของรายได้จากการขายปิโตรเลียม ซึ่งอัตราจัดเก็บแล้วแต่ที่ตกลงในสัญญา 2.รัฐไม่ได้ผลประโยชน์พิเศษ แต่จะมีเป็นส่วนแบ่งกำไรแทน ตามแต่สัญญาข้อตกลง เนื่องจากระบบนี้รัฐจะต้องเข้าไปเสี่ยงร่วมลงทุนกับเอกชนด้วย และ 3.มีการเรียก เก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเช่นกัน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านไทยที่ใช้ระบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเมียนมาร์ มาเลเซีย อินโด นีเซีย ล้วนแต่เก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมต่ำกว่าไทย โดยอยู่ที่ประ มาณ 10-20% ขณะที่ไทยเก็บ 50%

     อย่างไรก็ตาม การเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่นี้ คงจะต้องรอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดทำการปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับระบบสัมปทานและระบบพีเอสซี รวมทั้งผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับให้เรียบร้อยก่อน จึงจะเริ่มเปิดให้นักลงทุนเข้ามาทำการสำรวจได้ แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนก๊าซในอีก 6 ปีข้างหน้าต่อไป.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!