- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 16 April 2015 17:49
- Hits: 1575
กฟผ.เผยพม่าหยุดจ่ายก๊าซวันที่ 5 ไม่กระทบระบบไฟฟ้าในไทย
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รายงานสถานการณ์การหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติเพื่อซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานาและซอติก้าของสหภาพเมียนมา ระหว่างวันที่ 10 - 27 เมษายน 2558 เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่ 5 พบว่า สถานการณ์การใช้ไฟฟ้าเป็นปกติ โดยการผลิตและส่งไฟฟ้าของภาคตะวันตกสามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าอย่างเพียงพอ มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดทั้งประเทศเท่ากับ 17,368.8 เมกะวัตต์ เมื่อเวลา 20.29 น. (สถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 27,056.8 เมกะวัตต์ เมื่อเวลา 14.28 น.วันที่ 7 เมษายน 2558) ซึ่งโรงไฟฟ้าทุกโรงสามารถเดินเครื่องได้โดยไม่มีเหตุขัดข้อง
ทั้งนี้ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าจะลดลงในช่วงหยุดเทศกาลสงกรานต์และจะกลับมาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี กฟผ.จึงขอความร่วมมือประชาชน ร่วมกันประหยัดไฟในช่วงเวลา 13.00 - 15.00 น. และ 18.30 - 20.30 น. เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และตอบสนองการใช้ไฟฟ้าของประชาชนได้อย่างเพียงพอ
กฟผ.เผยโรงไฟฟ้าทุกโรงเดินเครื่องได้ปกติแม้พม่าหยุดจ่ายก๊าซเป็นวันที่ 4
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แจ้งว่า การผลิตและส่งไฟฟ้าของภาคตะวันตก เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ เพื่อซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานาและซอติก้า ของสหภาพเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ 10 เมษายน – 27 เมษายน 2558 เป็นปกติ สามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าอย่างเพียงพอ โดยมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดทั้งประเทศเท่ากับ 17,459.0 เมกะวัตต์ เมื่อเวลา 20.41 น. (สถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 27,056.8 เมกะวัตต์ เมื่อเวลา 14.28 น. วันที่ 7 เมษายน 2558 ) ซึ่งโรงไฟฟ้าทุกโรงสามารถเดินเครื่องได้โดยไม่มีเหตุขัดข้อง
ทั้งนี้ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าจะลดลงในช่วงหยุดเทศกาลสงกรานต์และจะกลับมาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี กฟผ. จึงขอความร่วมมือประชาชน ร่วมกันประหยัดไฟในช่วงเวลา 13.00-15.00 น. และ 18.30-20.30 น. เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และตอบสนองการใช้ไฟฟ้าของประชาชนได้อย่างเพียงพอ
อินโฟเควสท์
พลังงานพร้อมรับมือวิกฤติไฟรวมพลังคนไทยลดใช้พลังงาน
บ้านเมือง : กระทรวงพลังงานเดินหน้าจัดซ้อมแผนรองรับสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานของประเทศ ยันวิกฤติไฟฟ้าตลอดเดือนเมษารับมือได้แน่ หลังแหล่งก๊าซธรรมชาติในเมียนมาร์ที่ไทยต้องพึ่งพาต้องปิดซ่อมบำรุง ส่งผลให้เชื้อเพลิงก๊าซฯ 1 ใน 4 ของการผลิตไฟฟ้าขาดหายกว่า 1,530 ล้านลูกบาศก์ฟุต สั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือเต็มรูปแบบ มั่นใจทั่วไทยไม่มีไฟตก-ดับจากสาเหตุก๊าซธรรมชาติไม่พอแน่ ประกอบกับภาครัฐก็รณรงค์โครงการ "รวมพลังหาร 2 เดินหน้าประเทศไทย ลดใช้พลังงาน" ชวนคนไทยปรับพฤติกรรมการใช้พลังงาน ตามภารกิจ 1 ล. 5 ป. ล้างแอร์ ปิดไฟ ปรับแอร์ ปลดปลั๊ก เปลี่ยนหลอดไฟ ปรับเช็คเครื่องยนต์ มั่นใจทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง
พลังงานซ้อมแผนรับสภาวะฉุกเฉิน
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการการทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการซ้อมแผนรองรับสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานของประเทศ ประจำปี 58 ว่า มั่นใจรับวิกฤติไฟฟ้าตลอดเดือน เม.ย.ได้แน่นอน โดยเฉพาะระหว่างแหล่งก๊าซธรรมชาติในเมียนมาร์ที่จัดส่งมาไทยปิดซ่อมบำรุงในเดือนเมษายน ส่งผลให้ก๊าซฯ 1 ใน 4 ของการผลิตไฟฟ้าขาดหายประมาณ 1,530 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยจัดเตรียมเชื้อเพลิงสำรองเต็มพิกัด เชื่อไม่มีไฟตก-ดับจากสาเหตุก๊าซฯ ไม่พอ
"การจัดซ้อมแผนฯ ในวันนี้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงและรองรับเหตุการณ์จากกรณีที่ในตลอดเดือนเมษายน แหล่งก๊าซฯ สำคัญ 3 แหล่งในเมียนมาร์ต้องทำการหยุดซ่อมบำรุงซึ่งเป็นแผนงานประจำปีตามสัญญา...เบื้องต้น กระทรวงพลังงานขอยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการใช้ของประชาชนอย่างแน่นอน" นายณรงค์ชัย กล่าว
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า แหล่งก๊าซฯ ที่จะหยุดซ่อมบำรุง ได้แก่ แหล่งยาดานา และแหล่งเยตากุน จะหยุดช่วงวันที่ 10-19 เม.ย. เป็นเวลา 10 วัน และแหล่งซอติก้า หยุดวันที่ 20-27 เม.ย.เป็นเวลา 8 วัน ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณก๊าซฯ หายไปจากระบบรวมกันสูงสุดประมาณ 1,530 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แบ่งเป็นแหล่งยาดานา และเยตากุน ประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และแหล่งซอติก้าประมาณ 430 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน คิดเป็นประมาณ 25% ของปริมาณการจัดหาก๊าซฯ ทั้งหมดของประเทศ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานได้เตรียมความพร้อมในหลายส่วน ได้แก่ การสั่งการให้ภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคปิโตรเลียม โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ปตท. (PTT) งดหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า และแหล่งผลิตก๊าซฯ ในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมสั่งการให้เตรียมเชื้อเพลิงสำรองเต็มพิกัด โดยกระทรวงพลังงานได้เตรียมพร้อมทั้งด้านบุคลากร ด้านอุปกรณ์ต่างๆ และให้การไฟฟ้าเตรียมความพร้อมทั้งระบบผลิตและระบบส่งไฟฟ้าให้มีความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ไว้แล้ว ซึ่งจะไม่กระทบต่อการผลิตไฟฟ้าและต่อประชาชน
"จากภาพรวมการซ้อมรับมือดังกล่าว กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมในหลายส่วน ได้แก่ สั่งการให้ภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคปิโตรเลียม โดย กฟผ. และ ปตท. งดหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าและแหล่งผลิตก๊าซฯ ในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมสั่งการให้เตรียมเชื้อเพลิงสำรองเต็มพิกัด โดยกระทรวงพลังงานได้เตรียมพร้อมทั้งด้านบุคลากร ด้านอุปกรณ์ต่างๆ และได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำการเตรียมเชื้อเพลิงสำรองเต็มพิกัด และให้การไฟฟ้าเตรียมความพร้อมทั้งระบบผลิตและระบบส่งไฟฟ้าให้มีความพร้อม เพื่อรองรับสถานการณ์ไว้แล้ว ซึ่งจะไม่กระทบการผลิตไฟฟ้าและต่อประชาชน และหากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด"
ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การซ้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานของประเทศครั้งนี้ กระทรวงพลังงานต้องขอความร่วมมือไปยังภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคเอกชน โดยร่วมมือกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีการปิดซ่อมบำรุงฯ ดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง (on peak) หรือช่วงเวลาประมาณ 13.00-21.00 น. ระหว่างช่วงที่มีการหยุดจ่ายก๊าซฯ ระหว่างวันที่ 10-19 เมษายน 2558 เพื่อลดความต้องการไฟฟ้า ซึ่งส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศเพิ่มขึ้นและลดการใช้น้ำมันเพื่อผลิตไฟฟ้าซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง
ชวนคนไทยประหยัดพลังงาน นายอารีพงศ์ กล่าวว่า ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี เป็นช่วงที่ประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนจัด จึงมีการเปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อคลายร้อนเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นตาม โดยในปี 2557 ที่ผ่านมา พบว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) อยู่ที่ 26,942.1 เมกะวัตต์ เหตุจากสภาพอากาศที่ร้อน อุณหภูมิสูงถึง 37.5 องศาเซลเซียส ประกอบกับช่วงดังกล่าว เป็นช่วงเทศกาลวันหยุดสงกรานต์ จึงมีการขับรถยนต์ส่วนตัวเพื่อเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก จึงทำให้มีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น
นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากกรณีที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์จะทำการปิดซ่อมท่อก๊าซธรรมชาติประจำปี 2558 ทั้ง 3 แหล่งสำคัญ คือ แหล่งยาดานา และเยตากุน ระหว่างวันที่ 10-19 เมษายน และแหล่งซอติก้า ระหว่างวันที่ 20-27 เมษายน ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติหายไปจากระบบรวมกันสูงสุดประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต โดยถือเป็นสัดส่วนของก๊าซธรรมชาติที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้าจากเมียนมาร์คิดเป็นประมาณ 25% หรือ 1 ใน 4 ของปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติทั้งหมดในประเทศ โดยกระทรวงพลังงานขอยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการใช้ของประชาชนอย่างแน่นอน เนื่องจากได้เตรียมความพร้อมในหลายส่วนเพื่อรองรับสถานการณ์ไว้แล้ว
ขณะเดียวกัน กิจกรรมรวมพลังหาร 2 เดินหน้าประเทศไทย ลดใช้พลังงาน ยังมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากกรณีที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าจะปิดซ่อมท่อก๊าซธรรมชาติประจำปี ทั้ง 3 แหล่งสำคัญ คือ แหล่งยาดานา และเยตากุน ระหว่างวันที่ 10-19 เมษายน และแหล่งซอติก้า ระหว่างวันที่ 20-27 เมษายนนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติหายไปจากระบบผลิตไฟฟ้าของไทย โดยกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า เหตุการณ์จะต้องไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชน เนื่องจากได้เตรียมความพร้อมในหลายส่วน เพื่อรองรับสถานการณ์ไว้แล้ว
กฟผ.เตรียมพร้อมรับมือหยุดก๊าซฯ
นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงกรณีการหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติจากสหภาพเมียนมาร์ 2 แหล่ง คือ แหล่งยาดานา ในวันที่ 10-19 เมษายน 2558 เพื่อทำงานซ่อมฐานรากของแท่นผลิตที่ทรุดตัว ทำให้ก๊าซธรรมชาติที่ส่งหายไปทั้งหมดวันละประมาณ 980 ล้าน ลบ.ฟุต คิดเป็นกำลังผลิตประมาณ 5,700 เมกะวัตต์ และแหล่งซอติก้า ในวันที่ 20-27 เมษายน 2558 เพื่อหยุดทำงานตรวจสอบอุปกรณ์ และซ่อมบำรุงอุปกรณ์เพิ่มความดัน โดยลดการจ่ายก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากปกติวันละประมาณ 980 ล้าน ลบ.ฟุต เหลือ 420 ล้าน ลบ.ฟุต คิดเป็นกำลังผลิตลดลงประมาณ 3,300 เมกะวัตต์ ซึ่งก๊าซธรรมชาติที่หายไปจะส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าในฝั่งภาคตะวันตกทั้งหมด ได้แก่ โรงไฟฟ้า บริษัท ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) โรงไฟฟ้า บริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด โรงไฟฟ้า บริษัท ไตรเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และโรงไฟฟ้าราชบุรีเวิลด์
ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงที่มีการหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติดังกล่าว ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือช่วงพีคจะอยู่ที่ประมาณ 27,500 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ประชาชนมิต้องวิตกกังวล เนื่องด้วย กฟผ.ได้มีมาตรการรองรับไว้ 3 ส่วนหลัก ดังนี้ ระบบผลิตไฟฟ้า โดย กฟผ. จะเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครเหนือชุดที่ 1 ซึ่งสามารถเดินเครื่องด้วยก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันออกได้ ประสานงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวให้เดินเครื่องเต็มความสามารถ รับซื้อไฟฟ้าในส่วนเพิ่ม (Enhance Capacity) จากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงอื่นๆ ทดสอบเปลี่ยนเชื้อเพลิงดีเซลโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ได้รับผลกระทบให้มีความพร้อมสูงสุด และใช้น้ำมันเตา น้ำมันดีเซลเดินเครื่องทดแทนปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ลดลง โดยคาดว่าจะต้องใช้น้ำมันเตาจำนวนประมาณ 142 ล้านลิตร และน้ำมันดีเซลประมาณ 46 ล้านลิตร
ธพ.วาง 4 มาตรการป้องกันอุบัติภัย
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ จะมีประชาชนเดินทางท่องเที่ยวและเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก จนอาจเกิดการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงในสถานีบริการน้ำมันต่างจังหวัดบางแห่ง และอาจเกิดอุบัติภัยจากการขนส่งน้ำมันจากรถบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ธพ.จึงได้สั่งการและขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและผู้ขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ดำเนินการใน 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.จัดเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีปริมาณเพียงพอในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2.เฝ้าระวัง สอดส่องและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาใช้บริการกับสถานีบริการ/ห้องน้ำ 3.ห้ามไม่ให้มีการจำหน่ายสุราในสถานีบริการโดยเด็ดขาด และ 4.เตรียมความพร้อมของทีมระงับอุบัติภัยด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ได้ตลอดเวลา
"ธพ.คาดการณ์ว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีการใช้น้ำมันเพิ่ม จึงได้ประสานผู้ประกอบการให้เตรียมความพร้อม น้ำมัน และก๊าซ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้รถ โดยให้คลังน้ำมันทุกภูมิภาคทั่วประเทศสำรองน้ำมันอย่างเต็มที่ พร้อมเพิ่มเจ้าหน้าที่ให้บริการและจำนวนรถขนส่งน้ำมัน เพื่อจัดส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน" อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าว
นอกจากนี้ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนนอันเกิดจากการเมาแล้วขับ ธพ.จึงได้กำชับให้สถานีบริการทุกแห่ง งดจำหน่ายสุราในช่วงเทศกาลสงกรานต์โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้สถานีบริการน้ำมัน จัดสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนที่เหนื่อยล้าจากการขับรถทางไกล สามารถแวะพักก่อนเดินทางต่อ ด้วยการจัดพื้นที่พักผ่อน บริการน้ำดื่ม ห้องน้ำสะอาดไว้บริการ และเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยด้วยการติดไฟส่องสว่างให้ทั่วถึง
"ธพ.แจ้งกำชับและขอความร่วมมือผู้ค้าและผู้ขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง เตรียมความพร้อมของทีมระงับอุบัติภัยด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ให้พร้อมรับมือสถานการณ์ได้ตลอดเวลา เพื่อลดความเสี่ยงอันอาจจะเกิดจากอุบัติภัยเกี่ยวกับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีการขนส่งเพิ่มมากขึ้นในช่วงเทศกาล ซึ่งที่ผ่านมา ธพ.ได้กำหนดมาตรการป้องกันอุบัติภัยให้ต้องมีการออกแบบระบบการขนส่งพร้อมอุปกรณ์ ที่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมระดับสากล รวมทั้งต้องทำการทดสอบตรวจสอบระบบพร้อมอุปกรณ์ก่อนและระหว่างการใช้งาน ที่สำคัญการดำเนินการดังกล่าวต้องทำโดยผู้ทดสอบและตรวจสอบที่ได้รับความเห็นชอบจาก ธพ.เท่านั้น" อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าว
กกพ. เผยยอดสมัครลดใช้ไฟฟ้าประสบความสำเร็จเกินเป้า
กกพ. เผยยอดผู้เข้าร่วมโครงการลดการใช้ไฟฟ้าในโครงการ Demand Response ครั้งที่ 1/2558 สูงสุดประมาณ 660 เมกะวัตต์ ประสบความสำเร็จเกินเป้า มั่นใจช่วงเมษายนปีนี้ ปริมาณไฟฟ้าเพียงพอ วอนประชาชนคนไทยร่วมมือลดใช้ไฟฟ้าในช่วงพีคของทุกปี
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า “โครงการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) ครั้งที่ 1/2558” เพื่อบริหารความต้องการใช้กำลังไฟฟ้าในช่วงเหตุการณ์แหล่งก๊าซยาดานาและซอติก้าหยุดผลิต ในช่วงวันที่ 10 – 27 เมษายน 2558 มีภาคเอกชนจากทั่วประเทศที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวนรวมกว่า 800 ราย โดยมียอดเสนอลดใช้ไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 660 เมกะวัตต์ เกินเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ที่ 500 เมกะวัตต์
โครงการ Demand Response ที่ริเริ่มโดย กกพ. มาตั้งแต่ปี 2554 เป็นความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มาโดยตลอด ซึ่งในครั้งนี้ กกพ. ได้ตั้งเป้าหมายกำลังไฟฟ้าที่ลดได้จำนวน 500 เมกะวัตต์สูงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และกำหนดปริมาณรับสมัครไว้ที่ 700 เมกะวัตต์ โดยมีการกำหนดคาบเวลาในการดำเนินมาตรการ Demand Response ในครั้งนี้ คือ 10.00 – 12.00 น. 14.00 – 17.00 น. และ 19.00 – 22 .00 น. ของวันที่ 10 17 18 และ 20 ของเดือนเมษายน 2558 ผลการรับสมัครตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม ถึง 7 เมษายน 2558 ปรากฏว่าได้รับความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และ Hypermart โดยมียอดเฉลี่ยเสนอลดใช้ไฟฟ้าในทุกช่วงเวลาเกินกว่า 500 เมกะวัตต์
“มาตรการ Demand Response ในครั้งนี้ ได้รับการตอบรับจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีศักยภาพในการลดกำลังการใช้ไฟฟ้าอย่างมาก และถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความเข้าใจในมาตรการ กลไก และประโยชน์ของ Demand Response ร่วมกัน ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ กกพ. ที่ต้องการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการลดกำลังการใช้ไฟฟ้า ให้สามารถใช้มาตรการ Demand Response ได้จริงเมื่อระบบไฟฟ้าประสบภาวะต้นทุนสูงหรือภาวะวิกฤติในอนาคต ที่ผ่านมา กกพ. ได้คำนึงและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการกำลังการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดในการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนเป็นสำคัญ” นายวีระพล กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ในครั้งนี้โครงการ Demand Response จะได้รับการตอบรับเข้าร่วมโครงการจากภาคเอกชนเป็นอย่างดี แต่ในส่วนของประชาชนเองก็สามารถที่จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่ระบบไฟฟ้ามีความเสี่ยงด้านความมั่นคงในช่วงเดือนเมษายนของทุกปีได้เช่นกัน ซึ่งตรงตามเจตนารมณ์ของโครงการ Demand Response ที่ต้องบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าให้มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า โครงการ Demand Response นับว่ายังเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ การดำเนินโครงการในครั้งนี้จึงเป็นการขอความร่วมมือผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีศักยภาพในการลดใช้ไฟฟ้า เพื่อซักซ้อมความเข้าใจมาตรการ กลไก และประโยชน์ของ Demand Response รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการประหยัดไฟฟ้าและลดการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าอีกด้วย