- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 16 April 2015 17:22
- Hits: 1579
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 6-10 เม.ย. 58 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 13-17 เม.ย. 58 โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สัปดาห์ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 1.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 69.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Energy Information Administration (EIA) ประเมินปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯในปีนี้จะเพิ่มสู่ระดับสูงสุดในเดือน เม.ย. - พ.ค. ที่ 9.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเริ่มลดลงสู่ระดับ 9.33 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 9.04 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน มิ.ย. และก.ย. ตามลำดับ
· กองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย Urhobo บุกเข้าโจมตีท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ Nigerian Petroleum Development Company (NPDC) ใน Niger Delta เนื่องจากข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ชนกลุ่มน้อย Urhobo ถูกยกเลิกการจ้าง
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions)เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 15,381 สัญญา มาอยู่ที่ 172,887 สัญญา
· JPMorgan ร่วมกับ Markit รายงานดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดของโลก (Global All-Industry Output Index) ในเดือน มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.9 จุด มาอยู่ที่ 54.8 จุด อนึ่ง ดัชนีดังกล่าวเป็นผลสำรวจจากองค์กรวิจัยและบริหารอุปทานจากกว่า 20 ประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, จีน และรัสเซีย
· รัฐบาลอิตาลีคาดว่า GDP อิตาลีในปี 2558-2560 จะขยายตัวได้ 0.7%, 1.4% และ 1.5% ตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับประมาณการเพิ่มขึ้น หลังจากสภาพเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปและในโลกปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลอิตาลีไม่มีแผนการปรับลดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและจัดเก็บภาษีใหม่ในปีนี้
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Bloomberg รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันของรัสเซียในช่วง ม.ค. – มี.ค. 58 เพิ่มขึ้น 7.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 5.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากรัสเซียลดการอุดหนุนราคาของโรงกลั่นอิสระเพื่อที่จะกระตุ้นภาคส่งออก
· นาย Ali Al-Naimi รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย เผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบีย ในเดือน มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 65,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2523
· ผู้ผลิตน้ำมันดิบ Arabian Gulf Oil Co. (AGOCO) ในลิเบียเปิดเผยว่าบริษัทสามารถผลิตน้ำมันดิบได้ถึง 317,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียอยู่ที่ 600,000 บาร์เรลต่อวัน โดยที่ผ่านมาท่าและแหล่งผลิตน้ำมันส่วนใหญ่ถูกปิดเนื่องจากการต่อสู้ โดย Reuters คาดว่าจะสามารถกลับมาดำเนินการในเร็วๆนี้
· EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 เม.ย. 58 อยู่ที่ 482.4 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10.95 ล้านบาร์เรล ( มากกว่าที่นักวิเคราะห์ประมาณการเพิ่มขึ้นที่ 3.4ล้านบาร์เรล) และเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 13
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากสัญญาน้ำมันดิบ ICE Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าหมดอายุ กอปรกับตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดส่งสัญญาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวโดย EIA ปรับคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากรัฐ North Dakota ในเดือน พ.ค. 58 ลดลง 57,000 บาร์เรลต่อวัน จากการคาดการณ์เดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ปรับลดคาดการณ์ตั้งแต่มีรายงานกิจกรรมการขุดเจาะรายเดือน นอกจากนี้ IEA ปรับลดคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในครึ่งปีหลังของปี 2558 ลง 160,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่เฉลี่ย 12.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีกทั้ง IEA ปรับตัวเลขความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกในปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 93.60 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการปรับตัวเลขขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ทางเทคนิคคาดว่ากรอบความเคลื่อนไหว ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent , Nymex WTI และ Dubai อยู่ที่ 55-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, 49-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินลดลงจาก IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 เม.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 280,0000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.69 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 เดือน และ Platts รายงานบริษัท Pertamina จากอินโดนีเซียมีแผนการนำเข้าน้ำมันเบนซินในเดือน พ.ค. 58 ปริมาณ 10 ล้านบาร์เรล ลดลงจากเดือนก่อน 1 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามความต้องการใช้น้ำมันเบนซินจากหลายประเทศ อาทิบริษัท Petroleum Importation Coordinator (PIC) ซึ่งเป็นผู้ประสานงานจัดหาน้ำมันให้กับบริษัทในแทนซาเนีย ซื้อ น้ำมันเบนซินปริมาณรวม 900,000 บาร์เรล ส่งมอบเดือน พ.ค. 58 และ บริษัท Ceylon Petroleum Corp. (Ceypetco) ของศรีลังกาซื้อน้ำมันเบนซิน 92 RON ปริมาณ 150,000 บาร์เรล และ 95 RON ปริมาณ 60,000 บาร์เรล ส่งมอบต้นเดือน พ.ค. 58 ขณะที่ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 เม.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 300,0000 บาร์เรล หรือ 2.4 % อยู่ที่ 10.4 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 68-73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจาก IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 เม.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 290,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.16 ล้านบาร์เรล เกือบต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ประกอบกับ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 เม.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 30,000 บาร์เรล หรือ 0.3 % อยู่ที่ 9.6 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามผู้ค้าคาดระดับปริมาณสำรอง Middle Distillates ในเอเชียอาจเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก Arbitrage ไปยังภูมิภาคตะวันตกปิด ขณะที่ Platts รายงานตลาดน้ำมันดีเซลในเอเชียยังคงอ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง หลังโรงกลั่นอย่างน้อย 2 โรง ในเอเชียเหนือ มีแผนที่จะกลับมาเริ่มดำเนินการในช่วงครึ่งหลังของเดือน เม.ย. 58 หลังปิดซ่อมบำรุง สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 67-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล