WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น หลังตัวเลขเศรษฐกิจเยอรมนีฟื้นตัวและปัญหาหนี้สินของกรีซมีทิศทางดีขึ้น

  +ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับตัวดีขึ้น หลังตัวเลขเศรษฐกิจของเยอรมนีฟื้นตัวขึ้น โดยตัวเลขยอดการส่งออกของเยอรมนีขยายตัว 1.5% ในเดือน ก.พ. 58 เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 58 หลังจากที่อ่อนตัวลงที่ 2.1% และเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.0% สำหรับตัวเลขยอดการนำเข้าปรับเพิ่มขึ้น 1.8% ในเดือน ก.พ. 58 ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.2% นอกจากนี้ตัวเลขยอดเกินดุลการค้ายังคงอยู่ในระดับที่ดีโดยแตะที่ 1.97 หมื่นล้านยูโร ส่งผลให้ตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในยุโรป เนื่องจากเยอรมนีเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป

  + นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุน หลังนักลงทุนได้คลายความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินของกรีซ โดยมีรายงานว่า กรีซสามารถชำระคืนเงินกู้ให้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มูลค่า 458 ล้านยูโร เมื่อวานนี้ (9 เม.ย. 58) ด้วยความพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงเพื่อรับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม  ด้านเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า กรีซได้เรียกร้องให้ยูโรโซนปล่อยเงินกู้งวดใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะล้มละลาย แต่กลุ่มประเทศยูโรโซนยืนกรานว่ากรีซจะต้องยื่นแผนปฏิรูปที่น่าเชื่อถือภายใน 6 วันทำการเพื่อให้รมว.คลังยูโรโซนอนุมัติเงินช่วยเหลือก้อนใหม่ โดยจะมีการจัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 24 เม.ย. นี้

  +/- ข้อตกลงปัญหาโครงการนิวเคลียร์ยังมีความไม่แน่นอน หลังประธานาธิบดี ฮัสซัน โรฮานี แห่งอิหร่าน แถลงการณ์ว่าอิหร่านจะลงนามข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับสุดท้ายกับหกชาติมหาอำนาจก็ต่อเมื่อมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดที่มีการบังคับใช้จากข้อพิพาทโครงการนิวเคลียร์ถูกยกเลิกในวันเดียวกันเท่านั้น  แต่สหรัฐฯ ระบุเมื่อวันจันทร์ที่ 6 เม.ย. ว่า มาตรการคว่ำบาตรจะต้องค่อยๆ ทยอยถูกยกเลิกภายใต้ข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับสมบูรณ์ โดยทุกฝ่ายกำลังพยายามทำงานเพื่อให้ได้ข้อตกลงฉบับสุดท้ายทันกำหนดวันที่ 30 มิ.ย. 58 ทั้งนี้มหาอำนาจตะวันตกนั้นมองว่าโครงการนิวเคลียร์อิหร่านมีจุดประสงค์ที่การพัฒนาระเบิดปรมาณู แต่อิหร่านยืนยันว่าเป็นโครงการเพื่อสันติอย่างแท้จริง โดยมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และอียูทำให้อิหร่านไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้เกือบ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยลดลงไปถึง 60 เปอร์เซ็นต์หรือราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

  +/- กองทัพซาอุดิอาระเบียเดินหน้าโจมตีทางอากาศถล่มเป้าหมายหลายแห่งในเยเมน ขณะที่ผู้นำอิหร่านแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียยุติปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในเยเมน เพื่อกวาดล้างกลุ่มกบฏฮูติ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. โดยเรียกร้องให้คู่กรณีทุกฝ่ายร่วมกันหาทางออกอย่างสันติผ่านการเจรจา

  ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยตลาดน้ำมันเบนซินค่อนข้างซบเซา เนื่องจากความต้องการน้ำมันเบนซินในภูมิภาคปรับลดลง นอกจากนี้ตลาดกังวลเกี่ยวกับการลดการนำเข้าน้ำมันเบนซินในเดือน พ.ค.จากอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันเบนซินรายใหญ่ในภูมิภาค

  ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันบางแห่งเตรียมกลับมาเปิดดำเนินการผลิตอีกครั้งในปลายเดือน เม.ย. หลังจากปิดซ่อมบำรุงไป  นอกจากนี้ตลาดน้ำมันดีเซลยังได้รับแรงกดดันจากการที่โรงกลั่นในภูมิภาคเตรียมเพิ่มการส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือน พ.ค.

ทิศทางราคาน้ำมันดิบ

  ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 55-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  ติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ในเดือน มิ.ย. ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (Fed Funds Rate) หรือไม่ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ได้คงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำที่ร้อยละ 0 - 0.25 มานานกว่า 6 ปี หากเฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นและกดดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับลดลงได้ อย่างไรก็ดี รายงานการประชุม FOMC เมื่อวันที่ 17-18 มี.ค. ที่ผ่านมาระบุว่า เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายการเงินของเฟดยังคงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นที่ว่าเฟดควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย.หรือไม่ ล่าสุด ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเปิดเผยว่าเฟดน่าจะสามารถรอต่อไปจนถึงปี 59 สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากมีความเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงต้องใช้เวลากว่าที่อัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานจะกลับสู่ระดับปกติ ดังนั้น เฟดควรจะรอจนกว่าจะถึงครึ่งปีหลังของปีหน้าเพื่อขึ้นอัตราดอกเบี้ย และค่อยๆ ปรับขึ้นทีละน้อยจนแตะระดับร้อยละ 2 ในปลายปี 60 อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากเฟดบางส่วนมีความเห็นว่า เฟดมีแนวโน้มที่อาจจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในเดือน มิ.ย. 58 นี้ ถึงแม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐฯในรอบเดือนที่ผ่านมา ยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอก็ตาม โดยให้เหตุผลว่าหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้าเกินไปอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจมากกว่า และสนับสนุนให้เฟดดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างช้าๆ เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

  จับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 15 เม.ย.นี้ว่าจะมีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไปในทิศทางใด รวมถึงติดตามความคืบหน้าการดําเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และความคืบหน้าปัญหาการเจรจาหนี้ระหว่างรัฐบาลกรีซและกลุ่มเจ้าหนี้ โดยล่าสุด ECB เปิดเผยในวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ ECB ได้ซื้อพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันต่างๆในสหภาพยุโรปทั้งสิ้นรวมเป็นวงเงิน 4.74 หมื่นล้านยูโร และหากพิจารณารวมการซื้อพันธบัตร covered bond และหลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (ABS) ด้วยแล้ว ECB ก็สามารถบรรลุเป้าการซื้อพันธบัตรในวงเงิน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนแล้วในเดือนมี.ค. ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความมุ่งมั่นของ ECB ที่จะอัดฉีดเงินรวมกว่า 1 ล้านล้านยูโรเพื่อที่จะผลักดันเศรษฐกิจยูโรโซน และกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อ

  อุปสงค์น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 2 นี้ หลังโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ โดยล่าสุด โรงกลั่นหลักในอินเดีย เกาหลี และไต้หวัน อาจทยอยกลับมาดำเนินการผลิตตามปกติในช่วงปลายเดือน เม.ย. นี้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!