WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 47 - 52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

      “อิหร่านและชาติมหาอำนาจบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์เบื้องต้น สร้างความกังวลว่าอุปทานน้ำมันดิบจากอิหร่านจะเข้ามาสู่ตลาดโลกมากขึ้น”

  “ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 47 - 52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 52 – 57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (6 – 10 เม.ย. 58)  

  ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ยังคงผันผวน โดยตลาดยังคงจับตาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน

โดยล่าสุดทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุกรอบข้อตกลงในการจำกัดศักยภาพโครงการนิวเคลียร์ได้ ทั้งนี้ต้องจับตาว่าอิหร่านจะสามารถดำเนินการตามเงื่อนไขตามกรอบข้อตกลงดังกล่าวได้หรือไม่ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งในประเทศเยเมนที่ยังปะทุต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาวะอุปทานน้ำมันดิบอาจได้รับแรงกดดันเพิ่มเติม หลังทางการลิเบียเปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้สูงว่าบริษัทน้ำมันดิบแห่งชาติของลิเบียอาจเตรียมตัวกลับมาผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเร็วๆนี้ นอกจากนี้ ตลาดยังคงจับตาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ล่าสุดเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  การเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจ (P5+1) ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ผ่านพ้นกำหนดเส้นตาย ณ วันที่ 31 มี.ค. โดยล่าสุดทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุกรอบข้อตกลงเบื้องต้นในการจำกัดศักยภาพโครงการนิวเคลียร์ของเตหะรานได้ หลังการเจรจายืดเยื้อกว่า 8 วัน ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประกาศว่าจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านด้วยเช่นกัน ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า อิหร่านอาจจะเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากชาติตะวันตกตัดสินใจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน โดยปัจจุบันอิหร่านส่งออกน้ำมันดิบราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และยังผลิตเกินความต้องการเป็นจำนวนถึง 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยคาดว่าอิหร่านมีน้ำมันในสต็อกกว่า 30 ล้านบาร์เรล

  ในช่วงปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นท่ามกลางความกังวลว่าเหตุการณ์โจมตีของประเทศซาอุดิอาระเบียและสมาชิกกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับต่อกลุ่มกบฎฮูตี ชาวชีอะห์ ในประเทศเยเมน อาจเป็นชนวนทำให้เกิดสงครามระหว่างเชื้อชาติในตะวันออกกลาง และอาจทำให้อ่าวเอเดนถูกปิดลง ซึ่งจะกระทบต่อการขนส่งนํ้ามันดิบ ทำให้อุปทานอาจหายไปคิดเป็นประมาณ 20% ของความต้องการน้ำมันของโลก อย่างไรก็ตาม ตลาดประเมินว่ามีความเป็นไปได้ไม่มากนักที่ราคาน้ำมันดิบจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบครั้งนี้ และแม้ว่าเยเมนจะมีปัญหาที่เกือบจะพัฒนาเป็นสงครามกลางเมืองในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา แต่ช่องแคบ Bab el-Mandeb ในอ่าวเอเดนก็ไม่เคยถูกปิด เนื่องจากมีฐานกองเรือของสหรัฐฯขนาดใหญ่ในประเทศจิบูตี

  การชะลอแผนการลงทุนขุดเจาะและผลิตน้ำมันในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯที่ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ที่ระดับ 9.4 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงปลายเดือน มี.ค. ซึ่งตลาดคาดว่าการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องของแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบในระยะยาวต่อไป

  ทางการลิเบีย เปิดเผยว่ากลุ่มกบฎได้ถอนกำลังทหารออกไปจากท่าเรือ Ras Lanuf และ Es Sider กลับไปยังเมือง Sirte แล้ว หลังจากท่าเรือทั้ง 2 ปิดดำเนินการไปตั้งแต่เดือน ธ.ค. 57 นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าบริษัทน้ำมันดิบแห่งชาติของลิเบียอาจเตรียมตัวกลับมาผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเร็วๆนี้ โดยปัจจุบันปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียอยู่ที่ประมาณ 0.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากท่าเรือทั้ง 2 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกันกว่า 600,000 บาร์เรลต่อวัน กลับมาดำเนินการผลิตได้ตามปกติ จะส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียกลับมาเพิ่มขึ้น และกดดันภาวะอุปทานน้ำมันดิบ

ล้นตลาดเพิ่มอีก

  อุปสงค์น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 2 นี้ หลังโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ โดยล่าสุดมีการคาดการณ์ว่าหน่วยการกลั่นน้ำมันดิบ (Crude Distillation Units) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกราว 2 ล้านบาร์เรลจะได้รับผลกระทบจากการปิดซ่อมบำรุงในช่วงไตรมาส 2 นี้

      ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ ยอดค้าปลีกยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภค-ผลิตของจีน

  สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 มี.ค. - 3 เมย. 58)

  ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับขึ้น 0.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 49.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 54.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

  ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอย่างผันผวน โดยได้รับแรงกดดันจากความกังวลว่าภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดอาจได้รับแรงกดดันเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเจรจาปัญหานิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจทั้ง 6 ที่สามารถบรรลุกรอบข้อตกลงเบื้องต้นได้ ส่งผลให้กังวลว่าอิหร่านจะสามารถส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นภายในปีนี้ นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกปรับตัวเพิ่มขึ้น 560,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค. โดยปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 30.07 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ก.พ. สู่ระดับ 30.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 57 ที่ผ่านมา เนื่องจากทางตอนใต้ของอิรักสามารถกลับมาส่งออกได้เป็นปกติ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!