- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 07 April 2015 22:05
- Hits: 1436
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 30 มี.ค.- 3 เม.ย. 58 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 6 - 10 เม.ย. 58 โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สัปดาห์ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.37เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 0.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 69.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ : วิกฤติการณ์ในเยเมนที่ยังคุกรุ่นล่าสุดกองกำลังทางเรือของซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรปิดล้อมท่าขนส่งในเยเมน เป็นอุปสรรคต่อการเข้าเทียบท่าของเรือบรรทุกน้ำมันดิบเพราะการเข้าสู่น่านน้ำเยเมนอาจทำให้เจ้าของเรือไม่ได้รับความคุ้มครองจากการประกันภัยของ Protection and Indemnity Club (P&I)
· Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 เม.ย. 58 ลดลง 11 แท่น หรือ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.4% อยู่ที่ 802 แท่น
· สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Purchasing Managers’ Index-PMI) เดือน มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.2 จุด มาอยู่ที่ 50.1 จุด สูงกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์คาดการณ์ใว้ที่ 49.7 จุด
· Markits รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing managers' index หรือ PMI) ภาคการผลิต ของยูโรโซนในเดือน มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.2 จุด อยู่ที่ 52.2 จุด ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 10 เดือน และสูงกว่าตัวเลขประเมินเบื้องต้นที่ 51.9 จุด เพราะได้รับแรงผลักดันจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตในประเทศเยอรมนี สเปน และอิตาลี
· The Conference Board องค์กรอิสระด้านข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) เดือน มี.ค. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2.5 จุด มาอยู่ที่ 101.3 จุด สูงกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 96 จุด
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· การเจรจาสัญญานิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและกลุ่ม P5+1 มีความคืบหน้าจากการประชุมมหาอำนาจทางตะวันตกให้โอกาสอิหร่านทำตามข้อเสนอที่จะลดปริมาณสำรองของธาตุ Low-Enriched Uranium ลง 98% และลดจำนวนเครื่องหมุนเหวี่ยง(Centrifuge) ลง 2 ใน 3 ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 58 ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลที่ข้อขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจกับอิหร่านเริ่มคลี่คลาย
· EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 471.4 ล้านบาร์เรล แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ และเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 12 โดยปริมาณสำรองที่ Cushing เพิ่มขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 58.9 ล้านบาร์เรล
· Reuters รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจาก West Africa มาสู่เอเชีย เดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 2.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 30% โดยจีนนำเข้า 1.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน และอินเดียนำเข้า 1.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC ในเดือน มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 560,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 30.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยอิรักส่งออกเกือบ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซาอุดีอาระเบียผลิตในระดับสูงที่ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ OPEC ผลิตเกินเพดานการผลิตที่กลุ่มตั้งใว้ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียเผยท่าส่งออก Es Sider และ Ras Lanuf จะกลับมาดำเนินการในเร็ววันนี้หลังปิดดำเนินการต่อเนื่องจากการต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธเป็นเวลานับเดือน โดยความสามารถในการส่งออกของสองท่าดังกล่าวอยู่ที่ 600,000 บาร์เรลต่อวัน
· CFTC รายงานการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI NYMEX ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์ก และ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 มี.ค. 57 นักลงทุนปรับลดสถานะ การเข้าซื้อสุทธิ (Net Long Position) ลง 4,297 สัญญา หรือ 54% WoW อยู่ที่ระดับ 157,505 สัญญา
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง จากความวิตกกังวลของนักลงทุนว่าอิหร่านจะสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกได้ทันที หลังการเจรจาสัญญานิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและกลุ่ม P5+1 มีความคืบหน้าจากการประชุมมหาอำนาจทางตะวันตกให้โอกาสอิหร่านทำตามกรอบข้อเสนอและหากปฎิบัติตามได้ตามข้อตกลงมีความเป็นไปได้ที่อิหร่านได้รับการผ่อนปรนให้เพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบปริมาณประมาณ 200-600 KBD ภายในช่วงเวลา 6 เดือน - 1 ปี ข้างหน้า ทางด้านสหรัฐฯ ปริมาณแท่นขุดน้ำมันดิบ ได้ชะลอการลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยปริมาณแท่นขุดเจาะ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา ลดลงเพียงแค่ 11 แท่น WoW รวมช่วง 2 สัปดาห์ลดลงเพียงแค่ 23 แท่น เทียบกับช่วงก่อนหน้าที่ลดลงเป็นปริมาณ 40-90 แท่นต่อสัปดาห์ อาจแสดงให้เห็นว่าปริมาณแท่นขุดเจาะที่ลดลงกว่า 50% จากจำนวนสูงสุดในเดือนธ.ค. 57 อาจเป็นเพียงแท่นขุดเจาะที่มีประสิทธิภาพต่ำและจำนวนแท่นขุดเจาะ ปัจจุบันอาจเริ่มคงที่ Bank of America คาดว่าสหรัฐฯต้องใช้จำนวนแท่นขุดเจาะประมาณ 1,000-1,200 แท่น เพื่อรักษาระดับกำลังการผลิตไว้คงเดิม ซึ่ง ณ ปัจจุบันดำเนินการอยู่เพียง 802 แท่น อาจส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54 - 58 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 47-52 ดูไบจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 51.5-56.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินลดลงจาก PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรอง Gasoline เชิงพาณิชย์ในยุโรปบริเวณ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.3 ล้านบาร์เรล หรือ 4 % อยู่ที่ 8.7 ล้านบาร์เรล และ Platts รายงาน Arbitrage ของ Gasoil จากตะวันออกสู่ตะวันตกปิดและอุปสงค์ในตะวันออกไม่มากพอจะรองรับอุปทานที่เพิ่มเติมได้ อีกทั้ง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 เม.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.2 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 13.4 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Wepec ของจีนประกาศปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน Dalian (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. 58 เป็นระยะเวลา 40-45 วัน ส่งผลให้อัตราการกลั่นลดลงจาก 82% ในเดือน มี.ค. 58 และลดลงเหลือ 43% ในเดือน เม.ย. 58 ขณะที่ยอดส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปจะลดลงจากเดือนก่อน 60% ขณะที่ Platts รายงานเนื่องจากราคา Gasoline ที่ลดลง อินเดียได้มีการเข้าซื้อน้ำมันเบนซินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจนถึงปัจจุบัน India Oil Corp. (IOC) จากอินเดีย ได้ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 91 RON และ Reformate เพื่อส่งมอบช่วงเดือน เม.ย. 58 เป็นปริมาณรวมกว่า 68,300 เมตริกตัน เทียบกับ ในเดือน มี.ค. 58 ที่มีการซื้อ Reformate เพียงแค่ปริมาณ 16,000 เมตริกตัน ประกอบกับ ที่ผ่านมาทางการออสเตรเลียรายงานปริมาณนำเข้า Gasoline ในเดือน ม.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ 3.2 ล้านบาร์เรล สูงสุดตั้งแต่ ธ.ค. 54 สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 67.5-72.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงจาก รัฐบาลอินโดนีเซียคาดการณ์ยอดนำเข้าน้ำมันดีเซล ในปี 2558 จะลดลงจากปีก่อน 40% หลังการปรับเพิ่มสัดส่วน Biodiesel จากเดิม 15% เป็น 20% มีผลบังคับใช้ 1 เม.ย. 58 เป็นต้นไป ประกอบกับ PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันดีเซล,น้ำมันอากาศยาน และ น้ำมันทำความอบอุ่น ในยุโรปบริเวณ ARA สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 400,000 บาร์เรล หรือ 10.9 % อยู่ที่ 3.9 ล้านบาร์เรล ขณะที่ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 เม.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 15,000 บาร์เรล อยู่ที่ 10.5 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม บริษัทน้ำมันแห่งชาติ Petrobras จากบราซิล เผยแผนที่จะปิดโรงกลั่น Nishihara (กำลังการกลั่น 100,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่ญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของญี่ปุ่นลดลง อนึ่ง ปี 2557 ที่ผ่านมา โรงกลั่นดังกล่าวส่งออกน้ำมันดีเซล ปริมาณ 393,000 บาร์เรล ไปยังเวียดนาม เยเมน เคนย่า และไต้หวัน ขณะที่ Ministry of Economy, Trade and Industry (METI) จากญี่ปุ่นได้ประกาศให้บริษัทโรงกลั่นในญี่ปุ่นปรับลดกำลังการกลั่นน้ำมันดิบลง 10% หรือ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในเดือน มี.ค. 60 เพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปที่คาดว่าจะลดลง ทั้งนี้ Idemitsu Kosan Co. ได้เผยแผนปรับกำลังการกลั่นของหน่วย Crude Distillation ที่โรงกลั่น Chiba ลง 20 KBD มาอยู่ที่ 200,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 58 สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65.9-70.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล