- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 05 April 2015 08:50
- Hits: 3043
เอสพีซีจี ผนึกกรุงไทยปล่อยกู้'โซลาร์รูฟ'
บ้านเมือง : 'เอสพีซีจี'จับมือกรุงไทย เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ สร้างนวัตกรรมให้สินเชื่อครั้งแรกวงการธนาคารไทยและอาเซียนปล่อยกู้ติดตั้งโซลาร์รูฟบนหลังคาบ้าน โวปีนี้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มอีก 200 เมกะวัตต์ หลังเปิดเกมรุกตลาดโซลาร์ฟาร์มต่างประเทศ ลุยญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เนปาล และพม่า มั่นใจรายได้ตามเป้าหมาย 5 พันล้านบาท
นางจิรารักษ์ กุลสิงห์ ผู้อำนวยการฝ่าย บริหารฝ่ายทีมผลิตภัณฑ์ สินเชื่อบุคคล ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทางเอสพีซีจีเลือกใช้บริการธนาคารกรุงไทย สำหรับเอสพีซีจีถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ของธนาคาร โดยสินเชื่อเพื่อการติดตั้ง SPR Solar Roof นั้น ผู้ที่สนใจสามารถวางเงินดาวน์ได้ 2 แบบ คือวางเงินดาวน์ 30% ได้รับอัตราดอกเบี้ย 8.88% และวางเงินดาวน์ 20% จะได้รับอัตราดอกเบี้ย 9.99% สำหรับผ่อนชำระ 8 ปี นอกจากนี้เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันอีกด้วย โดยนำรายได้จากการขายไฟฟ้ามาผ่อนชำระแก่แบงก์กรุงไทยเป็นรายเดือน
น.ส.วันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) (SPCG) กล่าวว่า การติดตั้ง SPR Solar Roof จะมีให้เลือก 2 แบบ ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกติดตั้งได้ตามต้องการ ได้แก่ ขนาดกลาง (Size L) สำหรับพื้นที่หลังคา 36 ตารางเมตร มีขนาดติดตั้ง 4.5 KWp ราคา 375,000 บาท และขนาดใหญ่ (Size XL) โดยมีพื้นที่หลังคา 80 ตารางเมตร ขนาดติดตั้ง 10 KWp ราคา 820,000 บาท เริ่มต้นผ่อนเพียง 3,830 บาท โดยจะใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 9-10 ปี ขึ้นอยู่กับความเข้มของแสงอาทิตย์ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายทั่วประเทศ
ในปีนี้บริษัทฯ คาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 200 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการ ผลิตอยู่ 260 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเร็วกว่าเป้าหมายเดิมที่วางไว้ว่าใน 5 ปีข้างหน้าบริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รวม 500 เมกะวัตต์ แต่ปีนี้บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายรายได้รวมอยู่ที่ 5 พันล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่มีรายได้รวม 4.4 พันล้านบาท เนื่องจากโครงการผลิตไฟฟ้าใหม่จะเข้ามาในช่วงปลายปีทำให้ยังรับรู้รายได้น้อยมาก
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีแผนร่วมลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น กำลังผลิต 150 เมกะวัตต์ โดยจะร่วมทุนกับ Kyocera Corporation และรายอื่นๆ คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 2 รวมทั้งยังเจรจากับพันธมิตรท้องถิ่นและบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) เพื่อร่วมทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศฟิลิปปินส์ โดยวางเป้าหมายไว้ที่ 100 เมกะวัตต์หลังจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 500 เมกะวัตต์ ราคารับซื้อไฟฟ้าประมาณ 7 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 25 ปี คาดว่าจะชัดเจนในไตรมาส 2/2558
น.ส.วันดี กล่าวต่อว่า บริษัทฯ ยังสนใจที่จะเข้าไปรุกธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศพม่าและเนปาลด้วย ซึ่งการลงทุนในพม่าจะเป็นการลงทุนโครงการขนาดเล็กก่อน แต่เห็นว่าพม่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพที่ดี เนื่องจากมีประชากรมากแต่กำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศอยู่ที่ 2.5 พันเมกะวัตต์เท่านั้น ส่วนเนปาลได้รับเงินอุดหนุนจากธนาคารโลกตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 30 เมกะวัตต์ โดยบริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ
ส่วนการลงทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยนั้น บริษัทฯ มีแผนจะร่วมลงทุนโครงการโซลาร์สหกรณ์ที่รัฐจะรับซื้อ 800 เมกะวัตต์ รวมทั้งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ค้างท่อด้วย คาดว่าจะมีความชัดเจนในการรับซื้อไฟฟ้าในช่วงไตรมาส 2/ 2558 เนื่องจากบริษัทฯ มีกระแสเงินสดในมือเพียง 3 พันล้านบาท จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในการตัดสินใจลงทุน