- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 01 April 2015 23:30
- Hits: 1953
ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงต่อ หลังการเจรจาอิหร่านยังคงไม่ได้ข้อสรุปและขยายเวลาการเจรจาออกไปอีก
- ราคานํ้ามันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสยังคงปรับลดลงต่อ จากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าการเจรจาปัญหานิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจทั้ง 6 ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 31 มี.ค. มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถบรรลุข้อตกลงขั้นต้นได้และอาจจะมีการตัดสินใจยกเลิกการควํ่าบาตรอิหร่าน อย่างไรก็ดี หลังพ้นกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 มี.ค. ไปแล้ว การเจรจายังคงไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้จะขยายเวลาการเจรจาออกไปอีก 1 วัน เป็นวันพุธที่ 1 เม.ย. โดย Marie Harf โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าการประชุมมีความคืบหน้าเมื่อหลายวันที่ผ่านมา แต่ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปอีก นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า หากการควํ่าบาตรอิหร่านยุติลงจะส่งผลให้อิหร่านสามารถกลับมาส่งออกนํ้ามันเพิ่มขึ้น 500,000 บาร์เรลต่อวันภายในระยะเวลา 6 เดือน และเพิ่มขึ้นอีกราว 700,000 บาร์เรลต่อวันในอีก 1 ปี โดยปัจจุบันอิหร่านส่งออกนํ้ามันดิบได้ราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และยังผลิตเกินความต้องการเป็นจำนวนถึง 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยคาดว่าอิหร่านมีนํ้ามันในสต็อกไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาร์เรล ซึ่งหากอิหร่านสามารถกลับมาส่งออกนํ้ามันดิบได้ตามปกติ มีความเป็นไปได้ที่ราคานํ้ามันจะถูกกดดันให้ลดลงไปอีก
- สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณนํ้ามันดิบคงคลังปรับเพิ่มขึ้น 5.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 459.9 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นที่ 4.2 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ปริมาณนํ้ามันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่งโอกลาโฮมาปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 2.6 ล้านบาร์เรล ส่วนปริมาณนํ้ามันเบนซินคงคลังปรับลดลง 4.1 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ขณะที่นํ้ามันดีเซลคงคลังปรับเพิ่มขึ้น 18,000 บาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้
- ปริมาณการผลิตนํ้ามันดิบของกลุ่มผู้ผลิตนํ้ามันโอเปกปรับตัวเพิ่มขึ้น 560,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน มี.ค. โดยปรับเพิ่มขึ้นจากจากระดับ 30.07 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ก.พ. สู่ระดับ 30.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 57 ที่ผ่านมา เนื่องจากทางตอนใต้ของอิรักสามารถกลับมาส่งออกได้เป็นปกติ หลังจากที่การขนส่งล่าช้าจากสภาพอากาศที่ยํ่าแย่ โดยคาดว่าการส่งออกในเดือน มี.ค. ของอิรักจะสามารถแตะระดับที่ 3 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
+ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 101.3 จากระดับ 98.8 สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 96.0
ราคานํ้ามันเบนซิน ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคานํ้ามันดิบดูไบ แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานทั้งอุปสงค์และอุปทานของนํ้ามันเบนซินยังคงค่อนข้างแข็งแกร่งก็ตาม โดยความต้องการนํ้ามันเบนซินจากสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเข้าใกล้ฤดูกาลท่องเที่ยวของสหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือน พ.ค. นี้ และอุปทานนํ้ามันเบนซินที่ยังคงตึงตัวจากการที่โรงกลั่นนํ้ามันในภูมิภาคอยู่ในช่วงการปิดซ่อมบำรุงประจำปี
ราคานํ้ามันดีเซล ปรับตัวลดลงสวนทางราคานํ้ามันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานนํ้ามันดีเซลที่ปรับเพิ่มขึ้น จากการที่โรงกลั่นใหม่ในตะวันออกกลางได้เริ่มมีการทยอยส่งออกนํ้ามันดีเซลเข้ามายังภูมิภาคเอเชียแล้ว ประกอบกับอุปสงค์จากอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าหลักของนํ้ามันดีเซลปรับตัวลดลง โดยมีตัวเลขการนำเข้าที่ลดลงหลังจากรัฐบาลมีข้อบังคับให้ใช้ไบโอดีเซลมากขึ้น
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคานํ้ามันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนนํ้ามันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 55-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาปัญหาการสู้รบในเยเมนที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงขึ้นหลังซาอุดิอาระเบียได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มกบฏฮูติเพื่อช่วยเหลือนายอาเบด รับโบ มานซูร์ ฮาดี ประธานาธิบดีเยเมนในการต่อสู้กับกลุ่มกบฏดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายวิตกว่าการสู้รบนี้จะขยายวงกว้างและอาจกระทบต่อการผลิตนํ้ามันดิบในภูมิภาคได้ และล่าสุดได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในด้านการขนส่งและข่าวกรองทางทหาร
จับตาเศรษฐกิจกรีซและยูโรโซนว่าจะเป็นไปในทิศทางใด หลังจากมีการคาดการณ์ว่าการขาดแคลนสภาพคล่องของรัฐบาลกรีซอาจจะนำไปสู่ การผิดนัดชำระหนี้มูลค่า 460 ล้านยูโร หรือ 502.5 ล้าน ให้กับกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) ในช่วงต้นเม.ย. นี้ โดยรัฐบาลกรีซจะต้องเสนอแผนปฏิรูปเศรษฐกิจภายในในวันจันทร์ที่ 30 มี.ค. นี้
จับตาการเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจทั้งหก ว่าจะสามารถบรรลุกรอบข้อตกลงได้หรือไม่ โดยทุกฝ่ายจะต้องบรรลุข้อตกลงขั้นแรกภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ และต้องบรรลุข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 1 ก.ค. 58 โดยการเจรจามีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน เพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการควํ่าบาตรการนำเข้านํ้ามันดิบของอิหร่าน ซึ่งล่าสุดส่งผลให้อิหร่านยังไม่สามารถส่งออกนํ้ามันดิบอีกราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ ดังนั้นหากข้อตกลงดังกล่าวบรรลุผล ก็อาจส่งผลให้ราคานํ้ามันดิบปรับตัวลดลง
อุปสงค์นํ้ามันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในเดือน เม.ย. และ พ.ค. นี้ หลังโรงกลั่นนํ้ามันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคานํ้ามันดิบในช่วงนี้