- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 31 March 2015 00:03
- Hits: 1816
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 23-27 มี.ค. 58 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 30 มี.ค. – 3 เม.ย.58 โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สัปดาห์ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 4.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 3.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 73.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 69.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· ซาอุดีอาระเบียและพันธมิตร Gulf Cooperation Council (GCC) ปฏิบัติการ 'Storm of Resolve' โจมตีจุดยุทธศาสตร์ด้วยกำลังทางอากาศกับกลุ่มกบฏติดอาวุธ Houthis นิกายชีอะห์ในประเทศเยเมนในวันที่ 26 มี.ค. 58 เป็นการสนับสนุนรัฐบาลเยเมนที่ต้องลี้ภัยจากเมืองหลวง Sanaa ไปก่อนหน้านี้
· Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 มี.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 41 แท่นมาอยู่ที่ 825 แท่น ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 15
· สำนักวิจัยด้านพลังงาน PIRA คาดการณ์ ผลจากงบลงทุนที่ลดลงอย่างมากในปี 58 ทำให้การผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ ไม่เติบโตขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2/58 และอาจถึงขั้นลดลง อนึ่ง ยอดผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ ปี 57 ขยายตัวที่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
· คณะกรรมาธิการยุโรป (The European Commission) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence) ของยูโรโซนในเดือน มี.ค. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก -6.7 จุด เดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ -3.7 จุด
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 8.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 466.7 ล้านบาร์เรล ทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 11 โดยปริมาณสำรองที่ Cushing เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 56.3 ล้านบาร์เรล คิดเป็นประมาณ 80% ของปริมาณความจุทั้งหมด (Operable Capacity)
· กรมศุลกากรของจีนเผยปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนจากอิหร่าน เดือน ก.พ. 58 ลดลงจากปีก่อน 3.7% อยู่ที่ระดับ 2.04 ล้านตัน ในขณะที่นำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2% มาอยู่ที่ 1.14 ล้านตัน
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอนสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 มี.ค. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ลงจากสัปดาห์ก่อน 19,672 สัญญา มาอยู่ที่ 161,802 สัญญา
· สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor’s (S&P) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของไนจีเรีย 1 ระดับจาก BB- ลงมาเหลือ B+ เนื่องจากภาวะราคาน้ำมันตกต่ำและความเสี่ยงจากการเลือกตั้งในวันที่ 28 มี.ค. นี้จะมีผลต่อการปฏิรูปงบการเงิน ประกอบกับภัยคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธ Boko Haram ในตอนเหนือของประเทศ
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลงจากผลกระทบจากสงครามความวุ่นวายในเยเมนไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าการต่อสู้จะลุกลามถึงช่องแคบ Bab el-Mandeb ทางทฤษฏีอาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณอุปทานในระยะสั้นและผลกระทบด้านความรู้สึก (Sentiment) มากกว่า แต่ในหลักความเป็นจริงมีผลกระทบต่อตลาดน้ำมันน้อยมาก (ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเยเมนอยู่ที่ระดับ 110,000 บาร์เรลต่อวัน) โดย ซาอุดีอาระเบียมีแผนที่จะโจมตีกองกำลังติดอาวุธนิกาย Shiite ในเยเมนด้วยความเห็นพ้องระหว่างประเทศในกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ(GCC) พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากสหประชาชาติ (United Nations) ให้ออกมาตรการควบคุมการจำหน่ายอาวุธ ล่าสุดเครื่องบินรบของซาอุดีอาระเบียได้ทิ้งระเบิดโจมตีเมือง Sanaa ในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามต้องจับตามองการประชุมระหว่างกลุ่ม P5+1 และอิหร่านที่จะมีขึ้นในวันนี้ โดยจะเจรจาถึงจำนวนเครื่องหมุนเหวี่ยง (centrifuges) ที่อิหร่านสามารถครอบครอง ทั้งนี้การเลือกตั้งในไนจีเรียยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ โดยขยายเวลาการเลือกตั้งออกไปอีก 1 วัน ทางเทคนิคในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54 - 59 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 46-51 ดูไบจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 51.5-56.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจากบริษัท Pertamina ของอินโดนีเซียมีแผนนำเข้าน้ำมันเบนซินในเดือน เม.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 71,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 9.56 ล้านบาร์เรล โดยแบ่งเป็นน้ำมันเบนซิน 88RON ปริมาณ 9.16 ล้านบาร์เรล และ 92RON ปริมาณ 400,000 บาร์เรล ขณะที่ สำนักวิจัยด้านพลังงาน Energy Aspects รายงาน จีนมีความต้องการน้ำมันเบนซินไม่รวมกักเก็บสำรอง (Apparent Consumption) ในเดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ 2.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งส่งผลให้ปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซิน ในเดือนเดียวกัน อยู่ที่ 40,000 บาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.ค. 45 ประกอบกับกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ รายงานระยะทางขับขี่ยานยนต์สหรัฐฯ (Vehicle Miles Travelled หรือ VMT) ในเดือน ม.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.9% มาอยู่ที่ระดับ 1.11 แสนล้านไมล์ขับขี่ ซึ่ง VMT มักเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีของอุปสงค์ น้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ โดย Energy Aspects คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันเบนซินของสหรัฐฯในเดือน ม.ค. 58 เพิ่มขึ้น 0.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 8.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 มี.ค. 58 ลดลงล้านบาร์เรลต่อวัน 1.21 มาอยู่ที่ 10.44 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานปริมาณ Arbritrage Naphtha จากตะวันตกสู่เอเชียในเดือน เม.ย. 58 สูงขึ้น 50% จากเดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 1.8 ล้านตัน นอกจากนี้โรงกลั่น Ruwais (กำลังการกลั่น 830,000 บาร์เรลต่อวัน) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีแผนส่งออก Naphtha สู่เอเชียประมาณ 200,000 ตันต่อเดือน ส่งผลให้ปริมาณ Naphtha จากตะวันออกกลางสู่เอเชียเพิ่มขึ้นจาก 7.5 ล้านตันต่อปีมาอยู่ที่ระดับ 10 ล้านตันต่อปี สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72-77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจาก Caltex ประกาศปิดซ่อมบำรุงหน่วย Crude Distillation (CDU) 2 หน่วย ที่โรงกลั่น Lytton (109 KBD) ที่ออสเตรเลีย ซึ่งแต่ละ CDU จะปิดเป็นเวลาประมาณ 4 สัปดาห์ และจะกลับมาเริ่มดำเนินการช่วงกลางเดือน มิ.ย. 58 และ Reuters รายงานความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในอเมริกาใต้สูง ดังเห็นได้จาก Arbitrage น้ำมันดีเซลทั้งจาก West Coast และ Gulf Coast ของสหรัฐฯ ไปยังชิลี,เม็กซิโก,บราซิล และหมู่เกาะแคริบเบียน อย่างไรก็ตาม Abu Dhabi National Oil Company (ADNOC) จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออกประมูลขายน้ำมันดีเซล 0.001%S และน้ำมันอากาศยานปริมาณรวมกว่า 1.42 ล้านบาร์เรล ส่งมอบ 15-17 เม.ย. 58 อนึ่งปริมาณดังกล่าว เป็นเที่ยวเรือที่ 3 จากโรงกลั่น Ruwais (กำลังการกลั่น 830,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่เพิ่งขยายกำลังการกลั่น อีกทั้ง Reuters คาดการณ์ อินโดนีเซียมีแนวโน้มนำเข้าน้ำมันดีเซลลดลงในปี 58 เนื่องจากรัฐบาลปรับเกณฑ์ส่วนผสม Biodiesel ภาคขนส่ง จากเดิม 10% ขึ้นมาอยู่ที่ 15% มีผลวันที่ 1 เม.ย. 58 สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 67.3-72.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล