- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 31 March 2015 00:01
- Hits: 2300
ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 30 มีค.- 3 เมย. 58 และสรุปสถานการณ์ฯ 23-27 มีค. 58
ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน จับตาการสู้รบในเยเมน และทิศทางเศรษฐกิจกรีซ
“ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 47 - 52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 55 – 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (30 มี.ค. – 3 เม.ย. 58)
ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังคงผันผวน โดยตลาดจับตาปัญหาการสู้รบในเยเมนที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงขึ้นหลังซาอุดิอาระเบียและพันธมิตรได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ทำให้หลายฝ่ายวิตกว่าการ
สู้รบนี้จะขยายวงกว้างและอาจกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบในภูมิภาคได้ นอกจากนี้ตลาดยังจับตาการเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจทั้งหกเพื่อหาข้อตกลงเรื่องการจำกัดศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยจะต้องบรรลุข้อตกลงขั้นแรกภายในกำหนดเส้นตายวันที่ 31 มี.ค.นี้ อย่างไรก็ดีอุปทานน้ำมันดิบที่ยังคงล้นตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝั่งผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาปัญหาการสู้รบในเยเมนที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงขึ้นหลังซาอุดิอาระเบียได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มกบฏฮูติเพื่อช่วยเหลือนายอาเบด รับโบ มานซูร์ ฮาดี ประธานาธิบดีเยเมนในการต่อสู้กับกลุ่มกบฏ และล่าสุดได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในด้านการขนส่งและข่าวกรองทางทหาร
จับตาการเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจทั้งหก ว่าจะสามารถบรรลุกรอบข้อตกลงได้หรือไม่ โดยทุกฝ่ายจะต้องบรรลุข้อตกลงขั้นแรกภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ และต้องบรรลุข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 1 ก.ค. 58 โดยการเจรจามีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน เพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ซึ่งล่าสุดส่งผลให้อิหร่านยังไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบอีกราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ ดังนั้นหากข้อตกลงดังกล่าวบรรลุผล ก็อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง
อุปทานน้ำมันดิบยังคงล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝั่งผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก ล่าสุดปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยยังไม่มีสัญญาณว่าจะปรับตัวลดลง นอกจากนี้การผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียประจําเดือน ก.พ. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาแตะระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียยืนยันว่าจะไม่มีนโยบายการปรับลดการผลิตน้ำมันดิบลงหากผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกไม่ให้ความร่วมมือลดการผลิต ซึ่งหากผู้ผลิตกลุ่มโอเปกยังคงผลิตน้ำมันที่ระดับใกล้ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน อาจจะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันส่วนเกินในตลาดปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
จับตาเศรษฐกิจกรีซและยูโรโซนว่าจะเป็นไปในทิศทางใด หลังจากมีการคาดการณ์ว่าการขาดแคลนสภาพคล่องของรัฐบาลกรีซอาจจะนำไปสู่ การผิดนัดชำระหนี้มูลค่า 460 ล้านยูโร หรือ 502.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) ในช่วงต้นเม.ย. นี้ โดยรัฐบาลกรีซจะต้องเสนอแผนปฏิรูปเศรษฐกิจภายในในวันจันทร์ที่ 30 มี.ค. นี้
อุปสงค์น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในเดือน เม.ย. และ พ.ค. นี้ หลังโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายได้ส่วนบุคคล ความเชื่อมันผู้บริโภค ดัชนีภาคการผลิต รายได้นอกภาคการเกษตร และอัตราการว่างงานสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภค และอัตราการว่างงานยูโรโซน ดัชนีภาคการผลิต และดัชนีภาคบริการจีน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (23-27 มี.ค. 58)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 3.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 48.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 56.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปรับขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอย่างผันผวน โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง หลังจากแข็งค่าแตะระดับที่สูงสุดในรอบ 12 ปี ในช่วงกลาง มี.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาดยังคงกดดันราคาน้ำมันต่อเนื่อง โดยซาอุดิอาระเบียเปิดเผยว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แตะระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา พร้อมทั้งยืนยันว่าจะไม่ปรับลดการผลิตน้ำมันดิบลง นอกจากนั้น ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก หลังดัชนีการผลิตของจีนในเดือน มี.ค. ตกลงต่ำสุดในรอบ 11 เดือน