- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 23 March 2015 22:23
- Hits: 2130
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 16-20 มี.ค. 58 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 23-27 มี.ค. 58 โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สัปดาห์ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 3.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 3.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 4.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 3.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 67.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 9.6 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กว่า 2 เท่า มาอยู่ที่ 458.5 ล้านบาร์เรล ทำสถิติสูงสุดใหม่ติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 10 โดยปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่ Cushing รัฐ Oklahoma ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 54.4 ล้านบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอนสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 มี.ค. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ลง 5,613 สัญญา จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 181,474 สัญญา
· โรงกลั่นน้ำมันในเอเชียและยุโรปเข้าสู่ฤดูปิดซ่อมบำรุงในเดือน มี.ค. 58 เฉพาะในเอเชีย และคาดว่ากำลังการกลั่นจะหายไปจากระบบราว 1ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก่อนจะขึ้นถึงจุดสูงสุดในเดือน เม.ย. 58 ที่ระดับ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้การใช้น้ำมันดิบเข้ากลั่นลดลง ดังเห็นได้จากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของญี่ปุ่นและอินเดียในเดือน ก.พ. 58 ที่เริ่มลดลง
· กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นรายงาน ยอดนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ก.พ. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 8% และลดลงจากปีก่อน 12% มาอยู่ที่ 3.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน อนึ่ง Japan Crude Cocktail (JCC-ราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบที่ญี่ปุ่นนำเข้าผ่านศุลกากร) ในเดือน ก.พ. 58 ลดลงมาอยู่ที่ 49.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 6 ปี
· ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากทางใต้ของอิรักในเดือน มี.ค. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการขนส่งในเดือน ก.พ. 58 โดยตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. 58 (18 วัน) อิรักส่งออกอยู่ที่ระดับ 2.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับปริมาณการส่งออกในเดือน ก.พ. 58 ที่ 2.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 มี.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 56 แท่น มาอยู่ที่ 866 แท่น ต่ำสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 54
· กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ เสนอซื้อน้ำมันดิบปริมาณ 5 ล้านบาร์เรล เพื่อเก็บในคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ หรือ Strategic Petroleum Reserve (SPR) กำหนดส่งมอบ เดือน มิ.ย.-ก.ค. 58 ตามข้อกำหนดให้ SPR ซื้อน้ำมันเป็นระยะ
· ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ออกแถลงการณ์ ส่งสัญญาณว่ายังไม่รีบร้อนขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงกลางปีนี้ (Goldman Sachs คาดว่า Fed จะปรับขึ้นในเดือน ก.ย. 58) ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง ผลักดันให้การลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น แต่คาดว่าจะเป็นเพียงแรงสนับสนุนในระยะสั้น เพราะปัจจัยพื้นฐานของน้ำมันดิบยังคงอยู่ในภาวะล้นตลาดอย่างรุนแรง
· สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ZEW รายงานดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ (Economic Sentiment Index) ของเยอรมนีในเดือน มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.8 จุด มาอยู่ที่ 54.8 จุด โดยดัชนีตลาดหุ้น DAX ของเยอรมนีวิ่งแตะระดับ 12,000 จุด ทำสถิติเป็นประวัติการณ์
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลงจากแรงกดดันจากปริมาณสำรองน้ำมันดิบของสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้นและการเจรจาระหว่างกลุ่ม P5+1 และอิหร่านเรื่องนิวเคลียร์มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม และหากอิหร่านจะได้รับการผ่อนปรนในมาตรการคว่ำบาตร สำนักวิเคราะห์ Energy Aspects คาดการณ์อิหร่านจะส่งออกเฉลี่ยในไตรมาส 1/2558 อยู่ที่ 1.05 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.3 - 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาสที่ 2/2558 อย่างไรก็ตามค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นหลังการเจรจาระหว่างนาย Alexis Tsipas นายกรัฐมนตรีของกรีซ และรัฐมนตรีการคลังของยูโรโซนประสบความสำเร็จ โดยจะมีการเจรจามาตรการไถ่ถอนหนี้ในเดือน มิ.ย. 58 ซึ่งช่วยผ่อนคลายความกังวลต่อการแยกตัวของกรีซออกจากยูโรโซน ประกอบกับบริษัทผู้ผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯต้อง ที่ปรับมาตรฐาน การขุดเจาะน้ำมันแบบ Hydraulic Fracturing ใหม่ตามข้อกำหนดของภาครัฐ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้แท่นขุดเจาะในพื้นที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ (Federal Land) ต้องเสริมหลุมขุดเจาะเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีรั่วไหล รวมถึงเผยชนิดสารเคมีที่ใช้ทั้งหมด อนึ่งจำนวนแท่นขุดเจาะ Hydraulic Fracturing ใน Federal Land คิดเป็น 10% ของจำนวนแท่นทั้งหมด ทำให้ผู้ผลิตมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก 97,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 1 หลุมขุดเจาะ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เคลื่อนไหวอยู่กรอบ 52-57เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ WTI อยู่ในกรอบ 42.13 -47.55 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ดูไบจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 49.5-54.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินลดลงจาก Saigon Petro ของเวียดนามขยายเวลาในการประมูลซื้อ น้ำมันเบนซิน 95 RON ปริมาณ 85,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 10-14 เม.ย. 58 โดยเลื่อนกำหนดการซื้อจากวันที่ 16 มี.ค.เป็นวันที่ 18 มี.ค.นี้ โดยไม่ชี้แจงสาเหตุ ขณะที่ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 72,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.80 ล้านบาร์เรล และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 116,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.13 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Indian Oil Corp. (IOC) ของอินเดียซื้อน้ำมันเบนซินปริมาณ 140,000 บาร์เรล ส่งมอบปลายเดือน มี.ค. 58 หลังจากเข้าซื้อ น้ำมันเบนซิน ปริมาณรวม 770,000 บาร์เรล ส่งมอบในเดือน มี.ค.- พ.ค. 58 ทั้งนี้โรงกลั่นน้ำมันในระบบของ IOC บางส่วนปิดซ่อมบำรุงในเดือน มี.ค.- เม.ย. 58 โดยสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 67.5-72.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงจาก IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 46,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.66 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 99,000 บาร์เรล อยู่ที่ 24.72 ล้านบาร์เรลอย่างไรก็ตาม Vietnam National Petroleum Import-Export Corp. (Petrolimex) ของเวียดนามออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.05 %S ปริมาณรวม 530,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 10-15 และ 16-20 เม.ย. 58 รวมเป็นปริมาณจัดหาในเดือน เม.ย. 58 ทั้งสิ้น 1.1 ล้านบาร์เรล ใกล้เคียงกับเดือน มี.ค. 58 แต่เพิ่มขึ้น 33 % จากเดือน ก.พ. 58 และสูงกว่าเดือน ม.ค. 58 ถึง 4 เท่า ประกอบกับ Reuters รายงาน ตลาดน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ Ultra-Low Sulphur Diesel (ULSD) ในเอเชียตึงตัว เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในญี่ปุ่น,เกาหลีใต้และอินเดียเข้าสู่ฤดูปิดซ่อมบำรุง ขณะที่อุปสงค์จากออสเตรเลียยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ แม้ Arbitrage จากตะวันออกกลางสู่ตะวันออกไกลจะเปิดก็ตาม แต่อุปทานในตะวันออกกลางค่อนข้างตึงตัวเช่นกัน ส่งผลให้ Arbitrage ต่ำ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65.5-70.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล