WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ณรงค์ชัย ตั้งเป้า 20 ปีเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็น 22-25% จาก 11%

   นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ตั้งเป้าหมายในช่วง 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีกเท่าตัวจาก 3 พันเมกะวัตต์ในขณะนี้ และจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในระบบการผลิตไฟฟ้าเป็น 22-25% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จากราว 11% ในปัจจุบัน

  สำหรับ การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะเน้นใน 3 ประเภทหลัก ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานขยะ และพลังงานชีวภาพ-ชีวมวล โดยในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดการเพื่อให้สามารถรับรู้ว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าค้างท่อที่จะนำออกมาเสนอรับซื้อเป็นการทั่วไปเพิ่มเติมอีกในสัดส่วนเท่าใด โดยคาดว่าจะสรุปได้ภายในต้นเดือน เม.ย.นี้

  ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี 55-64 เดิมจะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 3 พันเมกะวัตต์ มาจากโซลาร์ฟาร์ม 2 พันเมกะวัตต์ โซลาร์รูฟ 200 เมกะวัตต์ และโซลาร์สหกรณ์-ชุมชน 800 เมกะวัตต์

   ในส่วนของโซลาร์ฟาร์มขณะนี้มีเอกชนยื่นข้อเสนอมามากถึง 2,800 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบและมีภาระผูกพันแล้วกว่า 1,700 เมกะวัตต์ คงเหลือค้างท่ออีกราว 1,013 เมกะวัตต์ ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจจะรับซื้อไฟฟ้าไว้ทั้งหมด โดยให้กลุ่มผู้ที่ยังสนใจจะเดินหน้าโครงการต่อยื่นข้อเสนอเข้ามาภายในสิ้นเดือนมี.ค.นี้ หากคงเหลือปริมาณเท่าใดนั้นก็จะนำมาบริหารจัดการต่อไป ภายใต้กำหนดที่จะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในสิ้นเดือน ธ.ค.58

    "ปีนี้จะเร่งเคลียร์ปัญหาการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ค้างท่อทั้งหมดให้แล้วเสร็จในปีนี้ จะยังไม่เปิดรับซื้อใหม่ ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานขยะ หรือชีวภาพ-ชีวมวลอาจจะใช้รู้แบบของการประมูล (bidding) ภายใต้กรอบการรับซื้อค่าไฟฟ้าในระบบ FiT ที่รัฐบาลอนุมัติไว้ เพื่อขจัดปัญหาการวิ่งเต้น"นายณรงค์ชัย กล่าว

    ด้านนางกุลวรีย์ บูรณสัจจะวราพร ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตโซลาร์ฟาร์มค้างท่อที่มายื่นเจตจำนงที่จะทำโครงการต่อแล้ว 300 เมกะวัตต์ และคาดจะมายื่นเข้ามาเพิ่มอีกราว 200 เมกะวัตต์ในช่วงที่เหลือก่อนสิ้นเดือน มี.ค.นี้

   ทั้งนี้ แผนแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในปี 58-79 ที่จะเสนอต่อกระทรวงพลังงานนั้น จะเป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเป็น 6 พันเมกะวัตต์, ขยะ 550 เมกะวัตต์ โดยส่วนนี้แบ่งเป็นขยะอุตสาหกรม 50 เมกะวัตต์, ชีวมวล ราว5,500 เมกะวัตต์, ก๊าซชีวภาพ ประเภทน้ำเสีย ของเสีย 600 เมกะวัตต์, ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานราว 700 เมกะวัตต์, พลังน้ำขนาดเล็ก 380 เมกะวัตต์, พลังงานลม 3 พันเมกะวัตต์ และพลังน้ำขนาดใหญ่ราว 2,900 เมกะวัตต์ ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มเป็นราว 19,635 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีการผลิตราว 8,000 เมกะวัตต์

                อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!