- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 22 March 2015 19:35
- Hits: 1571
สำรองล้นกกพ.สั่งชะลอผลิตไฟเข้าระบบ
ไทยโพสต์ : วิภาวดีรังสิต * ผู้ผลิตไฟฟ้าอลหม่าน ถูกสั่งชะลอผลิตไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว หลังพบแผนพีดีพี 2015 ปริมาณสำรองพุ่ง 40% ในปี 2567 ชี้เริ่มเห็นผลตั้งแต่ปี 2558 สำรองขึ้นสูงแล้วถึง 35% ระบุหากไม่เร่งลดผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ ทำให้ค่าไฟฟ้าพุ่ง 6 บาทต่อหน่วยช่วงปลายแผนได้
แหล่งข่าวกระทรวงพลัง งาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลัง งานได้ทำแบบจำลองปริมาณไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ.2558-2579 หรือพีดีพี 2015 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างจัดทำ โดยพบว่าในช่วง 10 ปีแรกของแผนพีดีพี เกิดปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าเริ่มพุ่งสูงขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2558 ที่ปริมาณสำรองจะเพิ่มจากมาตรฐาน 15% เป็น 35% ของปริมาณการผลิตทั้งประเทศ ส่งผลให้ภาระค่าไฟฟ้าประชาชนเพิ่มขึ้น
ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์ ดำเนินการเจรจากับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (กฟผ.) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (เอสพีพี) ให้เลื่อนไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งออกไปก่อน โดยเฉพาะในช่วงปี 2567 เนื่องจากพบว่าเป็นปีที่จะเกิดสำรองไฟฟ้าพุ่งสูงสุดที่ 40% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ ซึ่งตามสัญญาผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนส่วนใหญ่จะเริ่มผลิตไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี 2564-2567 ฉะนั้นเรกูเลเตอร์จะต้องเร่งเจรจาให้เลื่อนไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงนี้ เพื่อให้ทันก่อนที่จะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญาต่อไป
นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ตามแผนพีดีพีฉบับใหม่ ความต้องการไฟฟ้าปลายแผนในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเหลือประมาณ 60,000 เมกะวัตต์ จากแผนเดิม (พีดีพี 2013 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3) ที่ 70,000 เมกะวัตต์ ซึ่งทำให้ค่าไฟฟ้าปลายแผนเหลือประมาณ 5 บาทต่อหน่วย จากเดิม 6 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้เนื่องจากกระทรวงพลังงานกำหนดให้นำแผนอนุรักษ์พลังงานและการประหยัดพลังงานบรรจุในแผนพีดีพีใหม่ เพื่อให้ลดใช้ไฟฟ้าลง 10,000 เมกะวัตต์
สำหรับ ในส่วนของโรงไฟฟ้า กฟผ. ที่จะช่วยเลื่อนผลิตไฟฟ้าเข้าระบบนั้น ขณะนี้ กฟผ.กำลังอยู่ระหว่างพิจารณา เบื้องต้นคาดว่าสามารถเลื่อนได้เฉพาะโรงไฟฟ้าบางปะกง หน่วยที่ 2 และ 3 รวมถึงโรงไฟฟ้าวังน้อย ที่จะเข้าระบบในปี 2562.