- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 20 March 2015 21:43
- Hits: 2279
ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง หลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น และการคงกำลังการผลิตน้ำมันดิบของโอเปก
-ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในตะกร้าเงิน ส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบถูกกดดันเนื่องจากนักลงทุนในตลาดชะลอการซื้อลง
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแห่งคูเวตเปิดเผยว่า ประเทศในกลุ่มโอเปกจะไม่ปรับลดกำลังผลิตน้ำมันดิบอย่างเด็ดขาด เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับงบประมาณในประเทศซึ่งส่วนใหญ่มาจากการผลิตน้ำมันดิบ และกล่าวเพิ่มเติมว่ากลุ่มโอเปกไม่มีตัวเลือกอื่นที่ดีไปกว่าการคงระดับเพดานการผลิตน้ำมันไว้ที่ระดับเดิม เพราะไม่ต้องการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับประเทศนอกกลุ่มโอเปก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องการตัดทอนอุปทานน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ที่มีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า
- รายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ ในรอบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 มี.ค. 58 ปรับเพิ่มขึ้น 1,000 ราย จากระดับเดิมที่ 289,000 ราย ไปอยู่ที่ 291,000 ราย ทางด้านจำนวน
ผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกโดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 2,250 ราย แตะระดับ 304,750 ราย ซึ่งสะท้อนถึงภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังอ่อนแอ
- ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดัน หลังมีความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดิบที่จะปรับเพิ่มมากขึ้น หากอิหร่านบรรลุข้อตกลงในการจำกัดศักยภาพด้านนิวเคลียร์ เพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดว่าอิหร่านจะยังไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้ในช่วงนี้ เนื่องจากอุปทานที่ยังคงล้นตลาดอยู่
+ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ความไม่สงบในแถบตะวันออกกลาง เช่น อิรัก ซีเรีย และ ลิเบีย ยังคงช่วยหนุนให้ราคาน้ำมันดิบไม่ปรับลดลงมากนัก เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวล หากความรุนแรงเพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้การผลิตน้ำมันดิบในประเทศทางตะวันออกกลางปรับตัวลดลง
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากราคาที่ปรับตัวดีขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรป นอกจากนี้อุปสงค์ในจีนมีการปรับตัวดีขึ้น อันเนื่องมาจากอุปทานน้ำมันเบนซินในภูมิภาคที่ตึงตัว หลังโรงกลั่นน้ำมันเข้าสู่ฤดูปิดซ่อมบำรุง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานที่ตึงตัวในภูมิภาคหลังโรงกลั่นน้ำมันอยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุง และอุปสงค์จากออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดีเซลรายใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 42-47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 52-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
มาตรการเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจทั้งหก ที่กำลังเดินทางมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ก่อนจะถึงกำหนดเส้นตายวันที่ 31 มี.ค. นี้ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องบรรลุกรอบความตกลง และได้ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 1 ก.ค. 58 โดยการเจรจามีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน เพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบของอิหร่าน ซึ่งล่าสุดส่งผลให้อิหร่านยังไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบอีกราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ ทั้งนี้สหรัฐฯ และกลุ่มชาติมหาอำนาจ ได้ยื่นข้อเสนอให้อิหร่านยอมรับเงื่อนไขการควบคุมโครงการนิวเคลียร์เป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร
อุปทานส่วนเกินของน้ำมันดิบยังคงล้นตลาดต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝั่งผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก โดยล่าสุดปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในรอบ 80 ปี ในช่วงกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา โดยยังไม่มีสัญญาณว่าจะปรับตัวลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้จำนวนถังเก็บน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ไม่เพียงพอกับอุปทานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะใกล้นี้ เช่นเดียวกับ สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ที่คาดการณ์ว่าสถานการณ์อุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดจะกดดันตลาดไปถึงช่วงกลางปี 58 จนกว่าตลาดจะสามารถสร้างสมดุลระหว่างอุปทานส่วนเกินกับอุปสงค์ได้
อุปสงค์น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในเดือน มี.ค. นี้ หลังโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้