- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 18 March 2015 22:43
- Hits: 2500
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวลดลงหลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดในรอบ 10 สัปดาห์
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวลดลงหลังสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงาน (API) ประกาศถึงปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปิด ณ วันที่ 13 มี.ค. 2558 ที่มีเพิ่มขึ้นถึง 10.5 ล้านบาร์เรล ทำให้ปัจจุบันมีน้ำมันดิบคงคลังราว 450 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 3.8 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบ ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา เพิ่มขึ้นราว 3 ล้านบาร์เรล เช่นกัน
- นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันดิบโลกยังได้รับกดดันหลังลิเบียวางแผนที่จะส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มมากกว่า 1.2 ล้านบารเรลต่อวัน จากท่าเรือ Hariga และ Zueitina ทางตะวันออกของประเทศ ขณะที่อิหร่านจะส่งออกน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้น หากมาตรการคว่ำบาตรโครงการนิวเคลียร์จากประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกยุติลง
- นาย Fawad Razaqzada นักวิเคราะห์ตลาด FOREX กล่าวว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสควรอยู่ในระดับที่ต่ำว่า 40 เหรียญสหรัฐฯ สอดคล้องกับ นาย Walter Zimmerman หัวหน้านักวิเคราะห์ประจำ United-ICAP ของสหรัฐฯ ที่ให้ความเห็นว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสจะปรับตัวลดลงไปต่ำกว่าระดับ 32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่เบรนท์จะทรงตัวที่ระดับ 49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
- สำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป (Eurostat) รายงานถึง ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซน (YoY) - ก.พ. ว่าปรับตัวลดลงราวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า เท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และปรับลดลงประมาณร้อยละ 6 จากเดือน ม.ค. ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานยูโรโซน (YoY) - ไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว ร้อยละ 0.9
- ตัวเลขการสร้างบ้านใหม่ของสหรัฐ - ก.พ. ปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัดราว 17% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 0.897 ล้านยูนิต ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะแตะระดับ 1.06 ล้านยูนิต เป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2557 ตัวเลขบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยายปรับตัวลดลงร้อยละ 14.9 และร้อยละ 3.9 จากเดือน ม.ค. ตามลำดับ แสดงถึงการชะลอตัวลงของอุปสงค์ ในตลาดที่อยู่อาศัยท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นในสหรัฐฯ
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปสงค์ของอินโดนีเซียที่อ่อนตัวลง อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ที่ดีในเอเชียตะวันออก และอุปทานที่ตึงตัวจากโรงกลั่นน้ำมันภายในภูมิภาคที่เข้าสู่ฤดูปิดซ่อมบำรุง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าน้ำมันดิบดูไบ จากแรงหนุนของอุปทานน้ำมันดีเซลภายในภูมิภาคที่ตึงตัวหลังโรงกลั่นน้ำมันเหลายแห่งเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับอุปสงค์ภายในภูมิภาคที่ดีจากเวียดนามและศรีลังกา นอกจากนี้ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ของตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 42-47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 52-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ที่จัดขึ้นวันที่ 17-18 มี.ค. นี้
ว่า ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาดหรือไม่ หลังตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ แข็งแกร่งมากกว่าคาด โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ (nonfarm payroll) เดือน ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้นมากถึง 295,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 240,000 ตำแหน่ง ประกอบกับอัตราการว่างงานสหรัฐฯ เดือน ก.พ. ที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 51 ที่ระดับ 5.5% จากเดิมอยู่ที่ระดับ 5.7% เมื่อเดือน ม.ค. หาก FED ตัดสินใจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ซึ่งจะกดดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวลดลงได้
สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศลิเบียยังคงปะทุต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ลิเบียต้องหยุดดำเนินการผลิตน้ำมันกว่า 11 แห่งในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยล่าสุดลิเบียได้ปิดบ่อนํ้ามันอีก 2 บ่อ คือ Zella และ Fida ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย หลังถูกโจมตีโดยกองกำลังของกลุ่มกบฏ โดยคาดว่ากำลังการผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งก่อนหน้านี้อยู่ที่ระดับ 500,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี สงครามกลางเมืองของลิเบียยังคงไม่สามารถหาทางออกได้ โดยล่าสุดรัฐสภาลิเบียได้ร้องขอให้สหประชาชาติ (UN) เลื่อนการเจรจาสันติภาพออกไปอีก 1 สัปดาห์ เพื่อให้มีเวลามากขึ้นในการหารือเกี่ยวกับแผนแม่บทของรัฐบาลชุดต่อไป
อุปสงค์นํ้ามันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังโรงกลั่นทั่วโลกได้เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงประจำปี ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้