- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 17 March 2015 21:54
- Hits: 1618
เอฟทีจ่อพุ่ง 8.35 สต./หน่วย ก๊าซพม่าปิดซ่อม-กฟผ.ถกเลื่อนไอพีพี
ไทยโพสต์ : จามจุรีสแควร์ *เรกูเลเตอร์ระบุก๊าซพม่าปิดซ่อม เม.ย.2558 ต้องใช้ดีเซลและน้ำมันเตาทดแทนให้โรงไฟฟ้า กระทบค่าเอฟที 8.35 สตางค์ต่อหน่วย เร่งดึงโครงการดีอาร์ลดใช้ไฟฟ้า พร้อมเล็งจ่ายเงินชดเชยกลุ่มบริษัทกัลฟ์ แลกเปลี่ยนกับการเลื่อนโครงการไอพีพีออกไปอีก 2-3 ปี หวังแก้ปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงกว่า 40% ช่วงปี 2566-2568
นายวีระพล จิรประดิษฐ กุล กรรมการกำกับกิจการพลัง งาน (กกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์ เปิดเผยว่า ในเดือน เม.ย.2558 นี้ ประเทศพม่าเตรียมปิดซ่อมบำรุงท่อก๊าซธรรมชาติ 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ปิดซ่อมแหล่งยาดานาและเยตากุนระหว่างวันที่ 10-19 เม.ย.2558 ส่งผลให้ก๊าซสำหรับผลิตไฟฟ้าหายไปจากระบบ 930 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะกระทบโดยตรงกับการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าฝั่งตะวันตกไทยถึงประมาณ 5,500 เมกะวัตต์ และครั้งที่ 2 ปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซซอติก้า ระหว่างวันที่ 20-27 เม.ย.2558
"การปิดซ่อมดังกล่าวส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงต่อการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องเตรียมน้ำมันเตา 130 ล้านลิตร และน้ำมันดีเซล 56 ล้านลิตร รวมมูลค่า 4,547 ล้านบาท เพื่อป้อนให้โรงไฟฟ้าฝั่งตะวันตกของไทยทดแทนก๊าซที่หายไป ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่ประชาชนต้องแบกภาระ 8.35 สตางค์ต่อหน่วย" นายวีระพลกล่าว
นายวีระพลกล่าวว่า กกพ.ได้ขอความร่วมมือภาคโรงงานอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า ให้ช่วยลดใช้ไฟฟ้าลง โดยจัดทำเป็นโครงการความร่วมมือลดใช้ไฟฟ้า หรือ ดีอาร์ (ดีมานด์ เรสปอนส์) ขึ้น ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินตอบแทนกลับ 3 บาทต่อหน่วย ซึ่งตั้งเป้าลดการใช้ไฟฟ้าลง 500 เมกะวัตต์ ซึ่งช่วยลดภาระค่าเอฟทีจาก 8.35 สตางค์ต่อหน่วย ลงได้ 0.08 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่า 48 ล้านบาท จากที่ประชาชนต้องจ่ายจริงทั้งสิ้น 4,547 ล้านบาท
นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรม การกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒ นากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) กล่าวว่า กกพ.ได้เจรจากลุ่มบริษัทกัลฟ์ ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) จำนวน 5,000 เมกะวัตต์ เลื่อนระยะเวลาการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบออกไปจากเดิมในปี 2564-2568 ปีละ 1,250 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณสำรองไฟฟ้าในระบบ ที่อยู่ในระดับสูงเกินกว่า มาตรฐาน และจะเป็นภาระต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน โดยทางกลุ่มกัลฟ์ขอที่จะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับพันธมิตรที่ร่วมลงทุนด้วยกันก่อน ส่วนการจ่ายชดเชยกรณีดังกล่าวนั้น จะต้องอยู่ในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งในวันที่ 19 มี.ค.นี้ กฟผ.จะหารือกับ กกพ.อีกครั้ง.