- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 16 March 2015 23:16
- Hits: 2022
ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 16-20 มีค. 2558 และสรุปสถานการณ์ฯ 9-13 มีค. 2558
“ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 58-63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (16-20 มี.ค. 58)
ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังคงผันผวน โดยมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาดหรือไม่ และสภาพเศรษฐกิจของยูโรโซนหลัง ECB ได้เริ่มอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามมาตรการ QE รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบในลิเบีย นอกจากนี้ ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบที่ยังคงล้นตลาด และอุปสงค์น้ำมันดิบที่อาจจะปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 2 เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงประจำปีของโรงกลั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ที่จะจัดขึ้นวันที่ 17-18 มี.ค. นี้ว่า ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาดหรือไม่ หลังตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ แข็งแกร่งมากกว่าคาด โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ (nonfarm payroll) เดือน ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้นมากถึง 295,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 240,000 ตำแหน่ง ประกอบกับอัตราการว่างงานสหรัฐฯ เดือน ก.พ. ที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 51 ที่ระดับ 5.5% จากเดิมอยู่ที่ระดับ 5.7% เมื่อเดือน ม.ค. หาก FED ตัดสินใจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ซึ่งจะกดดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวลดลงได้
อุปสงค์นํ้ามันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังโรงกลั่นทั่วโลกได้เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงประจำปี ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ โดยขณะนี้โรงกลั่นขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศเกาหลีใต้จะปิดซ่อมบำรุง ตั้งแต่ 17 มี.ค. – 19 เม.ย. 58 ทำให้กำลังการผลิตหายไปกว่า 240,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ โรงกลั่นในประเทศอินเดียจะเริ่มปิดซ่อมบำรุงในช่วงเดือน พ.ค. และ มิ.ย. โดยกำลังการผลิตจะลดลงกว่า 400,000 บาร์เรลต่อวัน
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้เริ่มอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ในวันที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาและรับมือกับภาวะเงินฝืดในยูโรโซน โดย ECB จะดำเนินมาตรการ QE เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวจะมีมูลค่าอย่างน้อย 1.1 ล้านล้านยูโร และจะมีผลตั้งแต่เดือน มี.ค. 58 จนถึงเดือน ก.ย. 59 ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินยูโร เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันดิบในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศลิเบียยังคงปะทุต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ลิเบียต้องหยุดดำเนินการผลิตน้ำมันกว่า 11 แห่งในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยล่าสุดลิเบียได้ปิดบ่อนํ้ามันอีก 2 บ่อ คือ Zella และ Fida ซึ่งอยู่ทางตะวันออกด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย หลังถูกโจมตีโดยกองกำลังของกลุ่มกบฏ โดยคาดว่ากำลังการผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งก่อนหน้านี้อยู่ที่ระดับ 500,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี สงครามกลางเมืองของลิเบียยังคงไม่สามารถหาทางออกได้ โดยล่าสุดรัฐสภาลิเบียได้ร้องขอให้สหประชาชาติ (UN) เลื่อนการเจรจาสันติภาพออกไปอีก 1 สัปดาห์ เพื่อให้มีเวลามากขึ้นในการหารือเกี่ยวกับแผนแม่บทของรัฐบาลชุดต่อไป
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม อัตราดอกเบี้ยนโยบาย จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภค และตัวเลขการจ้างงานยูโรโซน ดัชนีราคาที่อยู่อาศัย ดัชนีภาคการผลิต (HSBC PMI) และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจีน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (9-13 มี.ค. 58)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 4.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 44.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 5.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 54.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอย่างผันผวน โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 12 ปี ซึ่งการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งซื้อขายในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุน นอกจากนี้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของ ECB ที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา ก็ส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งยังคงกดดันราคาน้ำมันดิบต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณดีต่อเนื่องเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันดิบ