- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 11 March 2015 23:40
- Hits: 2007
น้ำมันดิบลงต่อ หลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี และ ซาอุยันจะผลิตน้ำมันต่อแม้ราคาตก
-ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัส ยังคงปรับลดลงต่อ โดยได้รับแรงกดดันหลักมาจาก ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี เมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร และ สูงสุดในรอบ 8 ปีเมื่อเทียบกับค่าเงินเยน โดยค่าเงินยูโรปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1.0725 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 46 จากการที่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ด้วยการซื้อพันธบัตร 6 หมื่นล้านยูโรในเดือนนี้ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังได้รับแรงหนุนจากการที่ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 58 ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังจากตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ แข็งแกร่งมากกว่าคาด
- Salman กษัตริย์ของประเทศซาอุดิอาระเบียออกมากล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า แม้ว่าขณะนี้ราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลง แต่ซาอุดิอาระเบียจะยังดำเนินการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันต่อไป ซึ่งทำให้ตลาดกังวลว่าอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้วที่จะยังคงล้นตลาดอยู่อย่างต่อเนื่อง
- อุปสงค์น้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังโรงกลั่นทั่วโลกได้เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงประจำ
ไตรมาส 2 นอกจากนี้ ความต้องการน้ำมันดิบจากประเทศจีนซึ่งถือว่าเป็นผู้ใช้น้ำมันดิบใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ก็ชะลอตัวลงในเดือน ก.พ. โดยจีนได้นำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ก.พ. ลดลงเหลือ 25.55 ล้านตันในเดือน ก.พ. จาก 27.98 ล้านตัน ในเดือน ม.ค.
+ ลิเบียปิดบ่อน้ำมัน 2 บ่อ คือ Zella และ Fida ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย หลังถูกโจมตีโดยกองกำลังของกลุ่มกบฏ ซึ่งขณะนี้มีเพียงบ่อน้ำมัน 103A และ 103B ที่สามารถเปิดดำเนินการต่อไปได้ โดยคาดว่ากำลังการผลิตจะอยู่ที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน โดยก่อนหน้านี้อยู่ที่ระดับ 500,000 บาร์เรลต่อวัน
+ สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณนํ้ามันดิบคงคลังปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน โดยลดลง 404,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 439.4 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นที่ 4.4 ล้านบาร์เรล เนื่องจากกําลังการผลิตของโรงกลั่นสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่า 27,000 บาร์เรลต่อวัน และการนําเข้านํ้ามันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง ราว 664,000 บาร์เรลต่อวัน มาสู่ระดับ 6.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังคงคลังปรับเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ขณะที่น้ำมันดีเซลคงคลังก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 1.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังโรงกลั่นน้ำมันในเอเชียกำลัง
จะเริ่มข้าสู่ช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง ประจำไตรมาส 2 ส่งผลให้อุปทานน้ำมันเบนซินลงลด ประกอบกับ ความต้องการน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวของสหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือน พ.ค. นี้
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยสาเหตุหลักมาจากการที่โรงกลั่นในภูมิภาคเอเชียเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง และการส่งออกน้ำมันดีเซลจากทางเอเชียไปยังตะวันตกที่มากขึ้น อย่างไรก็ดี อุปทานน้ำมันดีเซลมีแนวโน้มสูงขึ้นหลังโรงกลั่น Ruwais ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังจะส่งออกน้ำมันดีเซลเข้ามายังภูมิภาคเอเชีย
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 55-62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการตอบรับของตลาดต่อมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของ ECB ที่จะเริ่มอัดฉีดเงินมูลค่ารวม 1.1 ล้านล้านยูโร (1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) หรือราว 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ในวันที่ 9 มี.ค. นี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาและรับมือกับภาวะเงินฝืดในยูโรโซน โดย ECB จะดำเนินมาตรการ QE นี้ไปจนถึงเดือน ก.ย. 2559 เป็นอย่างน้อย
ท่าทีของนักลงทุนต่อกระแสข่าวการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการประชุมของธนาคารกลางฯ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 17-18 มี.ค. นี้ ว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.25% หรือจะปรับเพิ่มขึ้นจริงตามข่าว
จับตาการเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจทั้งหก ที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องก่อนจะถึงเส้นตายของการวางกรอบการตกลงในช่วงปลายเดือน มี.ค. นี้ เพื่อนำไปสู่ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 1 ก.ค. 58 ซึ่งหากการเจรจาสำเร็จอาจส่งผลให้อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นจากระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ยูโรโซนอนุมัติให้ขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซออกไปอีก 4 เดือน โดย
ล่าสุดรัฐบาลกรีซกำลังร่างแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมเสนอต่อยูโรโซน และ IMF ผู้เป็นเจ้าหนี้ ตามเงื่อนไขข้อตกลงก่อนขยายเงินกู้ หากแผนผ่านการเห็นชอบ กรีซจะได้รับเงินกู้งวดใหม่ถึง 7,200 ล้านยูโร ซึ่งทำให้กรีซมีเงินเพียงพอในการชำระหนี้ และใช้จ่ายในการบริหารประเทศ