- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 09 March 2015 21:55
- Hits: 1616
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 58-63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (9-13 มี.ค. 58)
ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังคงผันผวน จับตาการเจรจาเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ที่กำลังเดินทางมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ก่อนจะถึงกำหนดเส้นตายปลายเดือนมี.ค.นี้ รวมทั้งผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ที่จะจัดขึ้นวันที่ 17-18 มี.ค. 58 นอกจากนี้ ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบที่ยังคงล้นตลาด และอุปสงค์น้ำมันดิบที่อาจปรับตัว
ลดลงในช่วงไตรมาส 2 เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาการเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจทั้งหก ที่กำลังจะมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ก่อนจะถึงกำหนดเส้นตายปลายเดือน มี.ค. ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องบรรลุกรอบความตกลง และได้ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 1 ก.ค. 58 โดยการเจรจามีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน เพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ซึ่งล่าสุดส่งผลให้อิหร่านไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ตามปกติ อย่างไรก็ดี ล่าสุดผู้แทนด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านประจำสานักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ยังคงยืนกรานต่อประเทศมหาอำนาจทั้งหกว่าจะไม่ยอมรับข้อเสนอเกี่ยวกับการควบคุมโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน หลังสหรัฐฯ เสนอให้อิหร่านยุติโครงการนิวเคลียร์อย่างน้อยๆ 10 ปี เพื่อแลกกับการทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ
ติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ที่จะจัดขึ้นวันที่ 17-18
มี.ค. นี้ ว่า ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.25% หรือไม่ ทั้งนี้ FED เคยส่งสัญญาณว่าจะยังไม่เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 โดยการพิจารณาการขึ้นดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราเงินเฟ้อ และอัตราว่างงาน ความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลด้านการจ้างงานภาคธุรกิจเอกชนไม่สดใสนัก โดยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน เพิ่มขึ้นแตะระดับ 313,000 ราย (26 ก.พ. 58) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ นับเป็นสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัว ซึ่งอาจส่งผลให้ FED มีแนวโน้มที่จะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกลับคืนสู่ระดับปกติในปีนี้
ติดตามความคืบหน้าของมาตรการ QE โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเริ่มอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ในเดือน มี.ค. นี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาและรับมือกับภาวะเงินฝืดในยูโรโซน โดย ECB ได้ดำเนินมาตรการ QE เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวจะมีมูลค่าอย่างน้อย 1.1 ล้านล้านยูโร และจะมีผลตั้งแต่เดือน มี.ค. 58 จนถึงเดือน ก.ย. 59
ยูโรโซนอนุมัติให้ขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซออกไปอีก 4 เดือน & 61607;โดยล่าสุดรัฐบาลกรีซกำลังร่างแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมเสนอต่อยูโรโซน และ IMF ผู้เป็นเจ้าหนี้ ตามเงื่อนไขข้อตกลงก่อนขยายเงินกู้ หากแผนผ่านการเห็นชอบ กรีซจะได้รับเงินกู้งวดใหม่สูงถึง 7,200 ล้านยูโร ซึ่งจะช่วยให้กรีซมีเงินในการชำระหนี้ และใช้จ่ายในการบริหารประเทศในระยะยาว
ส่งผลให้ตลาดเริ่มผ่อนคลายความกังวลจากการที่กรีซอาจจะต้องเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ และพ้นจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน ซึ่งความกังวลนี้ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจของยูโรโซนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ตลาดน้ำมันดิบอาจได้รับแรงกดดันในช่วงไตรมาส 2 ที่จะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับตัวลดลง และกดดันราคาน้ำมันดิบ ทั้งนี้อุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกทั่วโลกยังคงล้นตลาดอยู่ราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีกและความเชื่อมันผู้บริโภคสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้ผลิต-บริโภคจีน และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (2-6 มี.ค. 58)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 49.61เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 59.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอย่างผันผวน โดยได้รับแรงหนุนหลังจากรัฐมนตรีกระทรวงปิโตรเลียมของซาอุดิอาระเบียคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบว่ามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 58 ประกอบกับความกังวลว่าสถานการณ์ความไม่สงบในลิเบียจะทำให้อุปทานน้ำมันดิบตึงตัว อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงกังวลเรื่องการเจรจาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งหากอิหร่านถูกยกเลิกการคว่ำบาตรจะทำให้อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบได้มากขึ้นถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งผลให้อุปทานส่วนเกินมีแนวโน้มมากขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด รวมทั้งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 11 ปี และประมาณการณ์ครั้งที่ 2 ของตัวเลขจีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาส 4 ที่ขยายตัวลดลงเล็กน้อยจากคาดการณ์ครั้งก่อน