- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 08 March 2015 12:53
- Hits: 2110
ถกรื้อ‘พลังงาน’ชื่นมื่น 2 ฝ่ายเห็นพ้องตั้ง 3 คณะ
แนวหน้า : ถกรื้อ‘พลังงาน’ชื่นมื่น 2 ฝ่ายเห็นพ้องตั้ง 3 คณะ แก้หมดกฎหมาย 3 ฉบับ
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรก หลังเปิดเวทีเสวนาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ โดยการประชุมครั้งนี้มีม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
นอกจากนี้ ยังมีผู้ร่วมประชุมจากภาคประชาชน นำโดย น.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กทม. นายปานเทพ พัวพงศ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และภาครัฐนำโดย นางบุญบันดาล ยุวนะศิริ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ซึ่งชี้แจงว่ามาแทนอธิบดีกรมเชื้อเพลิง ที่ติดภารกิจไปต่างประเทศ นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
โดยม.ล.ปนัดดากล่าวเปิดประชุมตอนหนึ่งว่า รัฐบาลต้องการให้การประชุมนี้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันเสนอนโยบายพลังงานที่ยั่งยืนของประเทศ อย่างไรก็ตาม ทราบว่าทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)มีรายละเอียดเรื่องนี้มาก และมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการและอนุกรรมการมาดำเนินการ ซึ่งผลการหารือครั้งนี้จะนำไปประมวลและมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้พิจารณาประกอบเป็นนโยบายด้านพลังงงาน และเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป
ด้านน.ต.ประสงค์ ในฐานะผู้นำภาคประชาชนกล่าวว่า เรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่และจากประสบการณ์ทำงานของตนการจัดการพลังงานปัจจุบันต่างจากอดีต เรื่องพลังงานทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตั้งแต่ปี 2520 ที่การจัดการไม่เคยเปลี่ยนแปลง จึงต้องหารือร่วมกันว่าจะแก้ไขอย่างไร เพื่อให้ทรัพยากรเป็นประโยชน์ต่อคนไทยอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นควรมีการแก้กฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2514 ที่รัฐบาลไม่มีอำนาจกำหนดนโยบายพลังงานโดยตรง จึงหวังว่าข้าราชการจะรู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ของชาติจึงจำเป็นต้องปรับ เพื่อนำไปสู่ประโยชน์ส่วนรวม พร้อมขอให้กระทรวงพลังงานอดทน เพราะเราไม่ได้พบกันมานาน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังหารือกว่า 2 ชั่วโมง ที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงาน 3 คณะ ๆละไม่เกิน 10 คน ตามข้อเสนอของภาคประชาชนที่สานต่อจากมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยคณะแรก ทำหน้าที่พิจารณาทบทวนการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียม ทบทวนโครงสร้างและราคาก๊าซและน้ำมันสำเร็จรูป ทบทวนนโยบายเรื่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและแก้ไขปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งนี้ โครงสร้างราคาในการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียมจะต้องทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ก่อน จากเดิมการจัดสรรปิโตรเลียมจะจัดสรรให้ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก่อน ซึ่งประชาชนที่ใช้แอลพีจีในราคานำเข้าต้องใช้ในราคาแพงและไม่เป็นธรรม รวมถึงการกำหนดราคาซื้อก๊าซธรรมชาติที่ปากหลุมราคาแพงกว่าตลาดโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตแอลพีจีในประเทศแพงกว่าตลาดโลก ซึ่งไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
คณะที่ 2 ทำหน้าที่พิจารณาแก้ไขกฎหมาย ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องแก้กฎหมาย 3 ฉบับคือ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานและผลประโยชน์ทับซ้อน
ส่วนคณะที่ 3 ทำหน้าที่พิจารณาประเด็นการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชนและสุขภาวะอนามัยชุมชุน ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าต้องให้ภาคประชาชนและภาครัฐนั่งคุยกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด โดยภาคประชาชนเสนอให้พูดคุยประเด็นดังต่อไปนี้
ประเด็นแรก เรื่องการจ้างสำรวจ จ้างผลิต และแบ่งปันผลผลิตเพิ่มเติมจากเงื่อนไขเดิมจาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ประเด็นที่สอง เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และสิทธิของชุมชน ประเด็นที่สาม เรื่องการบริหารจัดการแปลงสัมปทานที่จะหมดอายุในปี พศ.2565 แปลงสัมปทานข้างเคียงแปลงสัมปทานเดิม และแปลงสัมปทานที่มีการคืนให้ภาครัฐแล้ว และประเด็นสุดท้าย เรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยและกัมพูชา
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) 10 คน มีความเห็นว่า จะทำหน้าที่เป็นคณะผู้ประสานงาน ที่มาจากตัวแทนของอนุกรรมการที่ขอจัดตั้งขึ้นทั้ง 3 ฝ่าย เพื่อเข้าหารือ ถึงการตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ ที่ปรึกษา คณะทำงานร่วม ภาครัฐและประชาชน ในการเดินหน้าปฏิรูปพลังงานไทยเพื่อคนไทย เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับภาคประชาชนและเครือข่ายฯมีส่วนร่วมด้วย
ด้านน.ต.ประสงค์ กล่าวว่า การประชุมวันนี้บรรยากาศผิดคาดทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย ทุกฝ่ายพยายามช่วยกันหาข้อสรุปและทางออกร่วมกัน เชื่อว่าข้อสรุปที่ได้วันนี้จะนำเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)โดยเร็ว ถ้านายกฯมีความเห็นอย่างไรจะแจ้งภาคประชาชนอีกครั้ง
ขณะที่นางบุญบันดาล กล่าวว่า ตนจะรับข้อสรุปไปเสนอนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน และนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงานให้รับทราบ และพิจารณาว่าต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร