- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 06 March 2015 22:41
- Hits: 1759
ปนัดดาเผยวงถกร่วมปิโตรเลียมตั้ง 3 คณะทำงาน แก้กม.-บริหารปิโตรเลียม
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าผลการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐบาล เกี่ยวกับนโยบายการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในวันนี้ มีมติที่จะตั้งคณะทำงานร่วม 3 คณะ ฝ่ายละไม่เกิน 10 คน ตามข้อเสนอของภาคประชาชน เพื่อร่วมพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาในแต่ละประเด็น โดยเบื้องต้นทั้งฝ่ายเห็นด้วยที่จะมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านพลังงาน
คณะทำงานคณะแรก ทำหน้าที่พิจารณาทบทวนการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียม ทบทวนโครงสร้างและราคาก๊าซและน้ำมันสำเร็จรูป และทบทวนนโยบายเรื่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการแก้ไขปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากเห็นว่าโครงสร้างราคาในการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียมจะต้องให้ประชาชนได้ประโยชน์ก่อน เพราะภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ใช้ก่อน โดยที่ประชาชนใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ในราคานำเข้า ทำให้ประชาชนใช้ราคาแพงและไม่เป็นธรรม
รวมถึงการกำหนดราคาซื้อก๊าซธรรมชาติที่ปากหลุมราคาแพงกว่าตลาดโลก ส่งผลให้ต้นทุนการผลิต LPG ในประเทศแพงกว่าตลาดโลก ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งหากมีการแก้ไขให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของราคาโครงสร้างใหม่ จะเป็นผลทำให้ประชาชนเกิดความไว้วางใจในการใช้ปิโตรเลียม
ส่วนคณะทำงาน คณะที่ 2 ทำหน้าที่พิจารณาแก้ไขกฎหมาย ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและผลประโยชน์ทับซ้อน
คณะทำงาน คณะที่ 3 ทำหน้าที่พิจารณาประเด็นการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชนและสุขภาวะอนามัยชุมชนนั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าจำเป็นต้องให้ภาคประชาชนและภาครัฐหารือกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด โดยภาคประชาชนได้เสนอให้พูดคุยในประเด็นต่างๆ ได้แก่ การจ้างสำรวจ จ้างผลิต และแบ่งปันผลผลิตเพิ่มเติมจากเงื่อนไขเดิมจากพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ,ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และสิทธิของชุมชน การบริหารจัดการแปลงสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 2565 แปลงสัมปทานข้างเคียงแปลงสัมปทานเดิม และแปลงสัมปทานที่มีการคืนให้ภาครัฐแล้ว รวมถึงปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย ระหว่างไทยและกัมพูชา
นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นสิริ ตัวแทนภาคประชาชน ระบุการประชุมวันนี้บรรยากาศถือว่าเป็นไปด้วยดี ทุกฝ่ายพยายามช่วยกันหาทางออกร่วมกันและ และเชื่อมั่นว่าข้อสรุปที่ได้ จะนำเสนอรายงานถึงนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว และเชื่อว่าหากนายกรัฐมนตรีมีความเห็นอย่างไรนั้นจะมีการแจ้งกลับมายังภาคประชาชนอีกครั้ง
อนึ่ง การหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ในวันนี้ นับเป็นการสานต่อจากการประชุมเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ภายใต้เวที "เดินหน้าประเทศไทย เพื่อความมั่งคงทางพลังงานที่ยั่งยืน"หลังก่อนหน้านี้หลายฝ่ายมีความเห็นที่แตกต่างกันต่อการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งนี้ และนำมาซึ่งการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ที่ให้ชะลอการเปิดสัมปทานเพื่อรอการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกัน ส่งผลให้กระทรวงพลังงานต้องประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปหลังจากที่ได้ออกประกาศเมื่อปลายปีก่อน
อินโฟเควสท์