- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 06 March 2015 16:21
- Hits: 1942
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่ารวมไปถึงความกังวลต่ออุปทานที่ล้นตลาด
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง จากค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นรวมไปถึงการที่สหรัฐฯ เดินหน้าเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านต่อไปอีกถึงแม้ว่าการเจรจาที่ผ่านมายังไม่บรรลุข้อตกลง แต่อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันยังมีปัจจัยสนับสนุนจากความกังวลในด้านอุปทานมาสนับสนุนอยู่จากประเทศลิเบียและประเทศอิรักที่ยังคงมีเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอย่างต่อเนื่อง
- ในวันพฤหัสบดีที่ผ่าน ค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 หรือแข็งค่าที่สุดในรอบ 11ปี 6 เดือน เมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโรของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หลังจากนายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ทางECB จะเริ่มมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ในวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2558 ที่จะถึงนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ECB จะซื้อพันธบัตรมูลค่า 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน จนถึงเดือนกันยายน 2559 คิดเป็นวงเงินรวม 1.1 ล้านล้านยูโร โดย ECB จะซื้อพันธบัตรจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ใกล้ระดับ 2% ในระยะกลาง
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้น 46,000 บาร์เรล ของสต็อกน้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ หลังจากนักเคราะห์หลายฝ่ายได้คาดการณ์ว่าสต็อกน้ำมันจะลดลงถึง 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ยังได้ผลิตน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.3% จากสัปดาห์ก่อนหน้าไปถึงระดับ 6.79 ล้านบาร์เรล ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันเบนซินในภูมิภาค
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ถึงแม้ว่า โรงกลั่นหลายโรงในภูมิภาคจะปิดซ่อมบำรุงก็ตาม
- สหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเจรจาข้อตกลงทางด้านนิวเคลียร์กับอิหร่าน โดยอาจจะทำให้การคว่ำบาตรอิหร่านที่มีมายาวนานยุติลง และอาจจะส่งผลทำให้มีน้ำมันดิบออกสู่ตลาดโลกมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมสภาวะอุปทานน้ำมันที่ล้นตลาดอยู่ในขณะนี้
- จำนวนผู้รับรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ ซึ่งประกาศโดยกระทรวงแรงงงาน ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7,000 รายมาอยู่ที่ระดับ 320,000 รายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นยอดการขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าเป็นผลมาจากสภาวะอากาศที่เลวร้ายจากหิมะตกในช่วงเดือนที่ผ่านมา
+ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศลิเบียและอิรักยังเป็นปัจจัยที่สนับสนุนราคาน้ำมันดิบ โดยล่าสุดยังไม่มีท่าทีที่จะยุติในเร็ววันนี้ โดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Corp: NOC) ของลิเบียได้ประกาศเหตุสุดวิสัย ณ บ่อน้ำมัน 11 แห่ง หลังถูกโจมตีโดยกลุ่ม IS ซึ่งการประกาศครั้งนี้เป็นมาตรการทางกฎหมายที่หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในกรณีไม่สามารถส่งมอบน้ำมันได้ครบตามสัญญาซื้อขาย ด้วยเหตุที่อยู่นอกเหนือการควบคุม
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 58-63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ที่จะจัดขึ้นวันที่ 17-18
มี.ค. นี้ ว่า ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.25% หรือไม่ ทั้งนี้ FED เคยส่งสัญญาณว่าจะยังไม่เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 โดยการพิจารณาการขึ้นดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราเงินเฟ้อ และอัตราว่างงานสหรัฐฯ
ติดตามคืบหน้าของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดย ECB จะเริ่มอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ในเดือน มี.ค. นี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาและรับมือกับภาวะเงินฝืดในยูโรโซน โดย ECB จะดำเนินมาตรการ QE เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวจะมีมูลค่าอย่างน้อย 1.1 ล้านล้านยูโร (1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยมาตรการนี้จะมีผลตั้งแต่เดือน มี.ค. 2558 จนถึงเดือน ก.ย. 2559
จับตาการเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจทั้งหก ที่กำลังเดินทางมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ก่อนจะถึงกำหนดเส้นตายปลายเดือน มี.ค. ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องบรรลุกรอบความตกลง และได้ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 1 ก.ค. 58 โดยการเจรจามีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน เพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบของอิหร่าน ซึ่งล่าสุดส่งผลให้อิหร่านยังไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบอีกราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ตามปกติ
ยูโรโซนอนุมัติให้ขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซออกไปอีก 4 เดือน โดยล่าสุดรัฐบาลกรีซกำลังร่างแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมเสนอต่อยูโรโซน และ IMF ผู้เป็นเจ้าหนี้ ตามเงื่อนไขข้อตกลงก่อนขยายเงินกู้ หากแผนผ่านการเห็นชอบ กรีซจะได้รับเงินกู้งวดใหม่สูงถึง 7,200 ล้านยูโร ซึ่งจะช่วยให้กรีซมีเงินในการชำระหนี้ และใช้จ่ายในการบริหารประเทศในระยะยาว