- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 03 March 2015 00:19
- Hits: 1605
กังวลสัมปทาน‘รอบ 21’ล่ม สภาอุตฯชี้กระทบต้นทุนพลังงาน
แนวหน้า : รองประธาน สอท. เชื่อหากแก้พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เสร็จใน 3 เดือนไม่กระทบ ยกเว้น สนช.พิจารณาล่าช้าจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม และความมั่นคงด้านพลังงาน ขณะที่ผู้ประกอบการอาจย้ายฐานการผลิตไปซบเพื่อนบ้าน
นายเจน นำชัยศิริ รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) แสดงความเห็นกรณีที่ภาครัฐชะลอการเปิดให้ภาคเอกชนยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปจนกว่าจะมีการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ปิโตรเลียมให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 3 เดือน โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเป็นผู้ดำเนินการนั้น เชื่อว่า หากสนช.สามารถพิจารณากฎหมายให้แล้วเสร็จ และมีผลบังคับใช้ตามกรอบเวลาที่กำหนด จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม และความมั่นคงด้านพลังงาน แต่ทั้งนี้ หากการแก้ไขกฎหมายล่าช้า เกินกรอบเวลาที่กำหนด และไม่สามารถเปิดให้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ทันภายในการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งมีกรอบเวลาในการทำงานที่จำกัด ยอมรับว่าจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และกระทบต่อต้นทุนของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงขีดความสามารถทางการแข่งขัน จากการที่ภาคอุตสาหกรรมจะต้องหันไปนำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในราคาที่สูงเพิ่มมากขึ้น
“หากภาครัฐชะลอการเปิดสัมปทานครั้งนี้ออกไปในระยะเวลา 3 เดือน คงไม่ส่งผลกระทบ แต่สิ่งสำคัญ คือไทยมีความจำเป็นและเร่งด่วนในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งยังไม่มีความแน่นอนว่า สำรวจแล้วจะพบแหล่งปิโตรเลียมมากน้อยเพียงใด อีกทั้งจะมีเอกชนที่สนใจขอยื่นสิทธิ์สำรวจและผลิตมากน้อยแต่ไหน เนื่องจากการเปิดสัมปทานในครั้งนี้ จำนวน 29 แปลง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เก่า ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการเปิดสัมปทานหรือใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) หากไม่มีผู้มายื่นสิทธิ์ ก็เท่ากับล้มเหลว และหากการเปิดสำรวจและผลิตไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ ก็มองว่าเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดต่อไป” นายเจน กล่าว
สำหรับ ประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้ระบบสัมปทานในการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในรอบที่ 21 เนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติได้ปรับลดลง และจะต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ที่มีราคาแพงเข้ามาเพิ่มขึ้น เพื่อใช้
ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนไฟฟ้าจากระดับ 4 บาทต่อหน่วย ปรับขึ้นใกล้ที่ระดับ 5-6 บาทต่อหน่วย จนส่งผลกระทบให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทย
นายเจน กล่าวว่า ภาคเอกชนคาดหวังภาครัฐจะนำระบบเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้มากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมให้พบ ขณะเดียวกันภาครัฐควรส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก ในระหว่างที่ไทยไม่สามารถเดินหน้าสัมปทานครั้งนี้ได้ โดยเฉพาะการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากมีราคาที่ต่ำกว่าเชื้อเพลิงอื่น ซึ่งหากไทยสามารถผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินได้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเร่งศึกษาระบบPSC เพื่อเตรียมระบบ บุคลากร และกฎหมาย ไว้รองรับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนพื้นที่ทับซ้อนในอนาคต เช่นเดียวกับการที่ไทยเคยใช้ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย- มาเลเซีย (JDA-A18)
กรมเชื้อเพลิงฯขู่ก๊าซธรรมชาติเหลือใช้แค่ 6 ปี
แนวหน้า : กรมเชื้อเพลิงฯขู่ก๊าซธรรมชาติเหลือใช้แค่ 6ปี จี้สนช.สรุปสัมปทานรอบ 21
อธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ ย้ำข้อมูล หากไม่เปิดสัมปทานรอบ 21 กระทบแน่ รอสนช. ชี้ขาดว่าจะแก้กฎหมายปิโตรเลียมอย่างไร ขณะที่สำรองปิโตรเลียมเหลือน้อยลงเหลือ 6 ปี ถือว่าเสี่ยง ต้องเร่งเปิด
นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงพลังงาน ได้ออกประกาศเรื่องการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบกและในทะเลอ่าวไทย ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2557 และออกประกาศเพิ่มเติม ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 และประกาศขยายกำหนดเวลาการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบก และในทะเลอ่าวไทย จนถึงวันที่ 16 มีนาคม นั้น เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และสอดคล้องกับการปฏิรูปด้านพลังงาน
กระทรวงพลังงาน จึงอาศัยอำนาจตามประกาศกระทรวงพลังงานดังกล่าวข้างต้นเกี่ยวกับข้อสงวนสิทธิตามข้อ 4.2 ซึ่งระบุว่า ทางราชการสงวนสิทธิที่จะยกเลิกประกาศฉบับนี้ หรือให้หรือไม่ให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตามประกาศฉบับนี้แก่ผู้ขอรายหนึ่งรายใดก็ได้ และผู้ขอจะไม่เรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายหรืออื่นใดนอกเหนือจากเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนดตามประกาศฉบับนี้เท่านั้น ทั้งนี้ รมว.พลังงานได้ลงนามในประกาศยกเลิก เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2558
นางพวงทิพย์กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน เห็นว่าต่อจากนี้ควรให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับปิโตรเลียม เช่น แก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมพ.ศ. 2514 หรือออกกฎหมายเพื่อรองรับระบบแบ่งปันผลประโยชน์ หรือ พีเอสซี ตามนโยบายรัฐบาลเพียงอย่างเดียว จึงไม่มีความจำเป็นต้องตั้ง คณะกรรมการร่วมฯภาครัฐ-ประชาชนเพื่อหารือเรื่องนี้ เพราะกระทรวงพลังงานได้ให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวมาหลายปีและหาก สนช.จะเรียกฝ่ายใดไปให้ข้อมูลก็พร้อมจะให้ความร่วมมือ
“เมื่อแก้กฎหมายเสร็จแล้ว กระทรวงพลังงาน จะเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิเพื่อสำรวจอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นช่วงใดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล แต่ยืนยันว่าประเทศไทยจำเป็นต้องเปิดการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพราะปัจจุบันไทยเป็นผู้นำเข้าพลังงานทุกประเภท” นางพวงทิพย์กล่าว
โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า มีความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ขณะที่ก๊าซธรรมชาติลดลง โดยหลังเดือนเม.ย.นี้ทางกรมจะสรุปปริมาณสำรองปี 2557 ที่เหลือว่ามีจำนวนเท่าไหร่ โดยเบื้องต้น คาดว่าเหลือใช้อีกประมาณ 6 จากปีที่แล้วเหลือใช้ 7 ปี ซึ่งต้องยอมรับว่าก๊าซมีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันและต่อระบบเศรษฐกิจไทยมหาศาล
อย่างไรก็ดี กรมยังเห็นว่าไทยควรจะเปิดโอกาสให้กับประเทศในการสำรวจฯปิโตรเลียมเนื่องจากปัจจุบันไทยมีการผลิตก๊าซธรรมชาติได้ 5,000 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ขณะที่การผลิตอยู่ที่ระดับ 3,000 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ที่เหลือเป็นการนำเข้าทั้งจากแหล่งพัฒนาร่วมไทยมาเลเซีย(JDA) จากพม่า นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) โดยการสำรวจเพื่อผลิตในประเทศก็หวังจะรักษาระดับการผลิตให้อยู่ในระดับ 3,000 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ไม่ให้ลดลงมากเพื่อไม่ให้ไทยต้องนำเข้าในจำนวนมากเพราะราคาจะแพง ประกอบกับสิ่งสำคัญคือ LNG ที่นำเข้าจะไม่สามารถนำมาผลิตปิโตรเคมีที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การยกเลิกประกาศสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ยอมรับว่ากระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งเอกชน 1 รายที่ได้เสนอขอสัมปทานรอบ 21 ทางกรมจะทำหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ โดยเอกชนมีความเข้าใจถึงสถานการณ์ประเทศไทย
มีรายงานข่าวแจ้งว่า วันที่ 27 ก.พ. 2558 ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.กรกสิวัฒน์
เกษมศรี และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและภาคประชาชน 3 คณะ ทำงานคู่ขนานกันไปกับคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคประชาชน ที่รัฐบาลแต่งตั้งก่อนหน้านี้ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ครอบคลุมทุกประเด็น ทั้งความเป็นธรรมต่อการจัดสรรทรัพยากร การแก้ไขกฎหมาย การจัดการแปลงปิโตรเลียมที่จะสิ้นสุดสัมปทานและแปลงปิโตรเลียมใหม่ข้างเคียงแปลงที่ดำเนินการผลิตแล้วในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ขอเสนอชื่อ นายปานเทพ และ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เข้าไปเป็นคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคประชาชน ตามที่ภาคประชาชนเสนอชื่อไปตอนแรก แต่กลับไม่มีรายชื่อดังกล่าว โดยไม่อยากให้ภาครัฐแทรกแซงการกำหนดตัวแทนของภาคประชาชน เพราะเป็นการทำลายบรรยากาศความจริงใจในการเจรจาหาทางออก เพื่อการปฏิรูปพลังงานได้ ซึ่งเครือข่ายฯ จะมอบหมายนายปานเทพ เป็นผู้ประสานกับภาครัฐในการดำเนินการตามมติดังกล่าว