- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 23 February 2015 22:05
- Hits: 1940
นายกฯ ยันต้องรอผลสรุปคกก.ร่วมสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ก่อนตัดสินใจต่อ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้จะมีการหารือเรื่องเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 หรือไม่ เนื่องจากวาระการประชุมต่างๆ เป็นหน้าที่ของฝ่ายเลขาธิการ ครม.ดำเนินการพิจารณา
ส่วนการตั้งคณะกรรมการร่วมหาทางออกการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ต้องได้ข้อสรุปก่อนวันที่ 16 มี.ค.นี้ เพื่อจะประกอบการตัดสินใจของตนเอง
ขณะเดียวกัน ปฎิเสธที่ตอบคำถามว่า หากไม่ได้ข้อสรุปจะมีการเลื่อนเปิดซองสัมปทานออกอีกหรือไม่ ระบุเพียงสั้นๆว่า "จะต่อ จะเปิด จะปิดหรือเลิก ยังไม่รู้"แต่หากไม่สามารถเปิดได้จะต้องมีผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้
ส่วนผลสำรวจหรือโพลล์ระบุว่า คสช.และรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ดีขึ้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือเป็นผลงานของทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ที่แก้ปัญหาที่สะสมมานาน การดำเนินการได้ในระดับนี้ก็ต้องชมและถือว่ามีความสามารถแล้ว
รองโฆษกฯ คาดตั้ง คกก.ร่วมหาทางออกสัมปทานปิโตรเลียมได้ 25 ก.พ.
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คาดตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาหาทางออกกรณีเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ไม่เกินวันที่ 25 ก.พ.นี้ พร้อมยืนยันรัฐบาลพยายามดำเนินการให้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ของชาติ
"นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไปดำเนินการทำหนังสือเชิญยังผู้เกี่ยวข้องและอำนวยการจัดการประชุม ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะมี 10-15 คน ประกอบด้วย กระทรวงพลังงาน กลุ่มเห็นต่าง นักกฎหมายและนักวิชาการ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน โดยคาดว่าไม่เกินวันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์จะมีความชัดเจน" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการ คณะทำงานจะมีการพิจารณากันเอง และหวังว่าจะมีข้อสรุปที่เหมาะสมเพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีประกอบการตัดสินใจก่อนวันที่ 16 มี.ค.58 พร้อมย้ำว่ารัฐบาลมุ่งถึงผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นหลักถึงแม้อำนาจในการตัดสินใจเปิดสำรวจสัมปทานจะเป็นของรัฐบาล แต่ก็ยังเปิดกว้างในการรับฟังความเห็นของประชาชน ขณะเดียวกันรัฐบาลยังต้องคำนึงถึงความมั่นคงของพลังงาน รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนและงบประมาณในการสำรวจ
ทั้งนี้ หากจะมีการเคลื่อนไหวหรือคัดค้านอีกครั้ง พล.ต.สรรเสริญ ระบุว่า รัฐบาลและ คสช.คงยอมไม่ได้ โดยขอให้กลุ่มที่เคลื่อนไหวรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างและยอมรับอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งรัฐบาลมีความพยายามในจัดการปัญหาอย่างดีที่สุด โดยใช้ทั้งเหตุและผลในการทำความเข้าใจกับคนทุกกลุ่มเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต
ส่วนกรณีที่เกิดเหตุอาชญากรรมบ่อยครั้งในช่วงประกาศกฎอัยการศึกนั้น พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาเหล่านี้ แต่การใช้กฎอัยการศึกเป็นคนละกรณีกับการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด เพราะเรื่องนี้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้รัฐบาลได้สั่งการไปยังหน่วยงานเข้าไปดูแลทรัพย์สินประชาชน ซึ่งประชาชนต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการชี้เบาะแสเพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข