- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 09 June 2014 18:04
- Hits: 3548
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 2-6 มิ.ย.57 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 9-13 มิ.ย. 57
ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำมัน โดยราคาเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 108.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 105.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 102.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 3.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 120.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 3.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 118.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC ในเดือน พ.ค. 57 สูงที่สุดในรอบ 3 เดือน อยู่ที่ 30.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 340,000 บาร์เรลต่อวัน และสูงกว่าเป้าหมายการผลิตปัจจุบันที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปริมาณการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากแองโกลา และ เอกวาดอร์
· ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนคลายความตึงเครียดลง หลัง Naftogaz บริษัทน้ำมันแห่งชาติของยูเครน ชำระหนี้ค่าก๊าซให้ Gazprom ของรัสเซียแล้ว 786.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ค้างชำระอยู่อีก 2,237 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และการเจรจาราคาก๊าซใหม่โดยที่มี European Energy Commission เป็นคนกลางประสานงานเจรจาเริ่มสัมฤทธิ์ผลเพราะต่างมีท่าทีประนีประนอมกันมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าการส่งมอบก๊าซจากรัสเซียไปยุโรปผ่านยูเครนจะดำเนินไปตามปกติล่าสุด ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวทั้งสองบริษัทใกล้ได้ข้อสรุปในการตกลงกันเรื่องราคา
· กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ปรับลดประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีนในปี 58 ลงมาอยู่ที่ 7% เทียบกับปีก่อน (ลดลงจากประมาณการณ์ครั้งก่อนเดือน เม.ย. 57 ที่ 7.3%) อย่างไรก็ตาม IMF คงประมาณการ GDP ปี 57 ไว้ที่ 7.5% เท่าเดิม เพราะเชื่อว่าความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีประสิทธิภาพเพียงพอ
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคาร (Refinancing Rate) จาก 0.25% มาอยู่ที่ 0.15% และลดดอกเบี้ยเงินฝากระหว่างธนาคาร (Deposit Rate) จาก 0% มาอยู่ที่ -0.1% ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเสียค่าฝากเงินให้ ECB ทั้งยังเพิ่มสภาพคล่องผ่านอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำให้แก่สถาบันการเงิน (Long-Term Refinancing Operation) วงเงิน 4 แสนล้านยูโร หรือ 5.42 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอาจใช้มาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลาย (Quantitative Easing) อีกในภายหลัง
· The Markit Economics รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers' Index) ของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 57 ปรับระดับแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ 56.4 จุด จาก 55.4 จุด เดือนก่อนหน้า ในขณะที่ด้าน Institution Supply Management (ISM) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเดือน พ.ค. 57 เพิ่มขึ้น 0.5 จุด จากเดือนก่อนอยู่ที่ 55.9 จุด
· สถานการณ์ในลิเบียยังคงตึงเครียดเกิดการสู้รบหลายแห่งในเมืองทางตะวันออกของประเทศ ทำให้ท่าส่งออกน้ำมันดิบ Zuietina 150,000 บาร์เรลต่อวัน ต้องปิดดำเนินการ และกำลังการผลิตน้ำมันดิบรวมลดลงอยู่ที่ 130,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับการผลิต 200,000 บาร์เรลต่อวัน ช่วงกลางเดือน พ.ค. 57 ส่วนปริมาญส่งออกน้ำมันดิบล่าสุดอยู่ที่ 75,000 บาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้ายังคงเคลื่อนไหวแบบไร้ทิศทางที่แน่ชัด โดยตลาดน้ำมันยังคงอยู่ในสภาวะค่อนข้างสมดุล และผู้ค้ายังคงรอการตัดสินใจของ OPEC ในการประชุมวันที่ 11 มิ.ย. 57 ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายการผลิตที่ระดับ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือไม่ ทั้งนี้ IEA คาดการณ์ในช่วงครึ่งหลังของปี 57 อุปทานน้ำมันดิบจะมีความตึงตัวมากขึ้นและ OPEC จะต้องผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับอุปสงค์น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ล่าสุด บริษัท Societe Generale คาดการณ์อัตราการเติบโตอุปสงค์น้ำมันดิบในปี 57 และ 58 จะอยู่ที่ระดับ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 1.2 ตามลำดับ ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบจากกลุ่ม Non-OPEC รวม OPEC NGLs ในปี 57 และ 58 จะเติบโตที่ระดับ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ส่งผลให้ตลาดอยู่ในสภาวะค่อนข้างสมดุล อย่างไรก็ตามอุปสงค์น้ำมันในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 57 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 800,000 บาร์เรลต่อวัน จากช่วงครึ่งแรกของปี 57 ส่งผลให้กลุ่ม OPEC ต้องผลิตน้ำมันเพิ่มเพื่อสนองความต้องการดังกล่าว โดย SG ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI ในไตรมาสที่ 3 มาอยู่ทีระดับ 110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (เพิ่มขึ้น 2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากการคาดการณ์ครั้งก่อน) และ 102.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (เพิ่มขึ้น 2.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากการคาดการณ์ครั้งก่อน) ให้จับตามองฤดูมรสุม บริเวณมหาสุมทรแอทแลนติก (1 มิ.ย. – 15 พ.ย.) ที่อาจกระทบกำลังการผลิตน้ำมันดิบนอกชายฝั่งสหรัฐฯ บริเวณอ่าวเม็กซิโก ซึ่งในปีนี้ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ของสหรัฐฯ คาดการณ์จะมีพายุจำนวน 8-13 ลูก ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปี ที่ 16.3 ลูก และจำนวน 3-6 ลูกจะมีความรุนแรงระดับการเป็นพายุเฮอริเคน ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวรับและแนวต้านอยู่ที่ 107.77-111.04 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai มีแนวรับและแนวต้านอยู่ที่ 103-106.2 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ WTI มีแนวรับและแนวต้าน 101.60-113.40 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงจากปริมาณสำรอง Light Distillates ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 มิ.ย. 57 เพิ่มขึ้น 360,000 บาร์เรลสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ ที่ 12.02 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ Platts รายงานไต้หวันกลับมาส่งออกน้ำมันเบนซินมากขึ้นโดยบริษัท CPC Corp. ออกประมูลขาย Mogas 92 RON ปริมาณ 255,000 บาร์เรล ส่งมอบช่วงครึ่งหลังของเดือน ก.ค. 57 หลังจาก บริษัทFormosa Petrochemical Corp. ที่เพิ่งออกประมูลขายไปก่อนหน้านี้ ปริมาณ 750,000 บาร์เรลส่งมอบช่วงเดียวกัน สำหรับสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันเบนซินเคลื่อนไหวที่ระดับ 118-121 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงจากรายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 มิ.ย. 57 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 190,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.63 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2ปีครึ่งต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 และ EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 พ.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดการณ์ 5 เท่า มาอยู่ที่ 118.1 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม JBC เผยตัวเลขคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้น 250,000 บาร์เรล ในปี 58 จากข้อบังคับของ International Maritime Organization (IMO) ให้เปลี่ยนชนิดน้ำมันเดินเรือจากน้ำมันเตามาเป็น Marine Gas Oil สำหรับสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดีเซลเคลื่อนไหวที่ระดับ 117-120 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล