- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 09 June 2014 18:02
- Hits: 3566
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะเคลื่อนไหวในกรอบ 105 –112 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 98-105 เหรียญสหรัฐฯ
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (9 – 13 มิ.ย. 57)
ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้คาดว่าจะปรับตัวลดลง เนื่องจากสถานการณ์ยูเครนมีแนวโน้มคลี่คลายลง หลังการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งมีนโยบายมุ่งเน้นการยุติปัญหาความรุนแรงภายในประเทศ รวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปกที่คาดว่าจะคงที่อยู่ที่ราว 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี การตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารกลางยุโรป และปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบลิเบียที่อยู่ในระดับต่ำเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมันดิบไม่ให้ปรับลดลงมากนัก
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาแผนสันติภาพของนาย โปโรเชนโค ประธานาธิบดีคนล่าสุดของยูเครน ที่มุ่งหวังจะยุติปัญหาทางการเมืองกับรัสเซีย และปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ โดยมีรายละเอียดครอบคลุมถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการนิรโทษกรรม ขณะที่เหตุการณ์การปะทะกันระหว่างกลุ่มสนับสนุนรัสเซียและทหารรัฐบาลยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
ติดตามการประชุมกลุ่มโอเปกที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 มิ.ย. นี้ หลังจากที่การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 3 เดือน มาอยู่ที่ประมาณ 30.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ค. เป็นผลมาจากการผลิตที่เพิ่มขึ้นของแองโกลา ซาอุดิอาระเบีย และอิรัก อย่างไรก็ดี ตลาดคาดการณ์ว่ากลุ่มโอเปกจะยังคงโควต้าการผลิตรวมของกลุ่มที่ราว 30 ล้านบาร์เรลต่อวันต่อไป
รายงานประจำเดือนจาก สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) กลุ่มโอเปก (OPEC) และ สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ในวันที่ 10, 12 และ 13 มิ.ย. นี้ตามลำดับ ว่าจะมีมุมมองต่ออุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบโลกอย่างไร หลังจากที่การผลิตน้ำมันดิบจากประเทศนอกกลุ่มโอเปก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐฯ และแคนดานาปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยการกู้เงินใหม่ (refinancing rate) จากระดับเดิมที่ 0.25% ลงสู่ระดับ 0.15% เพื่อช่วยหนุนเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ
ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบลิเบียที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำราว 150,000 บาร์เรลต่อวัน สาเหตุจากการเจรจาเปิดใช้ท่าขนส่งน้ำมันดิบยังไม่สัมฤทธิ์ผล โดยล่าสุดท่าขนส่งน้ำมันดิบหลักของประเทศอย่าง Es Sider และ RasLanuf ยังคงถูกกลุ่มผู้ประท้วงปิดอยู่
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้ผลิตและสินค้าคงคลังสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิตจีน รวมไปถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรม และอัตราการจ้างงานยุโรป
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 – 6 พ.ค. 57)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 102.66 เหรียญฯ และเบรนท์ปรับลดลง 0.80 เหรียญฯ ปิดที่ 108.61 เหรียญฯ ส่วนราคาน้ำมันดูไบปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 105 เหรียญฯ
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ปรับตัวลดลง เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากความคาดหวังว่า สถานการณ์ในยูเครนจะคลี่คลายลง ภายหลังนาย โปโรเชนโค ประธานาธิบดีคนล่าสุดของยูเครนได้ออกแผนสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งทั้งในประเทศ และกับรัสเซีย รวมถึงกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 เดือนในเดือน พ.ค. อย่างไรก็ดีปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง การตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารกลางยุโรป เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตัวเลขเศรษฐกิจภาคบริการ และภาคการจ้างงานสหรัฐฯ ตลอดจนภาคการผลิตจีนที่ออกมาดี เป็นปัจัยพยุงราคาน้ำมันดิบให้ปรับลดลงไม่มากนัก